ข้าวต้มมัด

ภาษาไทย 4 ภาค

ภาคเหนือ

ข้าวต้มกะทิ


ภาคอีสาน

ข้าวต้มโค่น


ภาคใต้

เหนียวห่อกล้วย

ค้นหาภาษาถิ่น
Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ความสำคัญของภาษาถิ่น
ภาษาถิ่น เป็นภาษาที่พูดกันในท้องถิ่นต่างๆ ตามปกติ เป็นภาษาที่คนในถิ่นนั้นๆ ยังคงพูดและใช้อยู่จำนวนมาก คำบางคำในภาษากลางได้เลิกใช้ไปแล้ว แต่ในภาษาถิ่นยังคงรักษาขนบธรรมเนียมไว้เป็นอย่างดี

ในการศึกษาภาษาถิ่นย่อมจะศึกษาท้องถิ่นในด้านที่อยู่อาศัย ความเป็นอยู่ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมได้ เพราะภาษาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ภาษาถิ่นจะรักษาคำเดิมได้ดีกว่าภาษามาตรฐาน เพราะจะมีการเปลี่ยนแปลงทางภาษาและวัฒนธรรมน้อยกว่า นอกจากนี้การศึกษาในท้องถิ่นมีประโยชน์ในการศึกษาด้านวรรณคดีอีกด้วย เพราะวรรณคดีเก่าๆ นั้น ใช้ภาษาโบราณ ซึ่งเป็นภาษาถิ่นจำนวนมาก เช่น วรรณคดีสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถ้าเราไม่เข้าใจภาษาถิ่นที่ใช้ ก็จะตีความไม่ออกและยากต่อการศึกษาวรรณคดีนั้นๆ ได้ ฉะนั้นเราจึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาภาษาถิ่นทุกถิ่น จึงจะมีความรู้กว้างขวาง เช่น ในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 ว่า

“เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า” คำว่า “เข้า” แปลว่า ปี สิบเก้าเข้า คือ อายุเต็ม 18 ย่าง 19

“ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ขุนสามขนพ่ายหนี” คำว่า แพ้ ในที่นี้ เป็นภาษาถิ่นเหนือ แปลว่าชนะ คำว่า พ่าย จึงแปลว่า แพ้ ถ้าเป็นภาษากลาง คำว่า พ่าย หรือคำว่าแพ้ แปลเหมือนกันคือไม่ชนะ

ข้อความนี้หมายถึงพ่อขุนรามคำแหงทรงไสช้างเข้าชนกับช้างของขุนสามชนตัวที่ชื่อมาสเมือง และพระองค์ทรงสามารถรบชนะขุนสามขนจนขุนสามชนแพ้แล้วไสช้างหนีไป (ระวีวรรณ อินทร์แหยม, 2542, หน้า 10)

นอกจากนี้ ฉันทัส ทองช่วย (2534, หน้า 13-15) กล่าวว่า ภาษาถิ่น เป็นภาษาของกลุ่มชาติที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาษาไทยถิ่นเป็นภาษาของกลุ่มชาวไทย ซึ่งอาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ภาษาถิ่นของชนกลุ่มใดย่อมเป็นภาษาที่มีความสำคัญต่อชนกลุ่มนั้นมากที่สุด เพราะเป็นภาษาที่ใช้พูดติดต่อสื่อสารร่วมกันมาตั้งแต่เกิด โดยสามารถพิจารณาจากเจ้าของภาษาและผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับภาษาได้ดังนี้

ภาษาถิ่นเป็นภาษาประจำถิ่นของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นภาษาที่ต้องใช้ติดต่อสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน เป็นภาษาที่ใช้มาตั้งแต่แรกเกิด ได้เรียนรู้ จดจำ สืบทอดและร่วมรับในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เป็นภาษาที่มีความสำคัญในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ภาษาถิ่นจึงมีความสำคัญต่อกลุ่มชนผู้เป็นเจ้าของภาษานั้นๆ มากที่สุด

ภาษาถิ่นเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งที่ควรศึกษา เพราะการศึกษาภาษาถิ่นจะช่วยให้เข้าใจสภาพสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชนได้ทางหนึ่ง ภูมิปัญญาของชาวบ้านด้านต่างๆ เช่น เพลงกล่อมเด็ก นิทาน ปริศนาคำทาย ชื่อบุคคล ชื่อพืชและชื่อสัตว์ ชื่อสิ่งของเครื่องใช้ ชื่ออาหารเครื่องดื่ม บทสวดในพิธีกรรม และวรรณกรรมท้องถิ่นต่างๆ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารถ่ายทอดทั้งสิ้น

ภาษาถิ่นเป็นรากฐานทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชน เราอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มระดับชาวบ้านที่ใช้ภาษาเดียวกันในชีวิตประจำวันสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนจะต้องมีประวัติความเป็นมาร่วมกัน เช่นชาวไทยถิ่นตากใบกับชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยในอำเภอตุมปัต รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งพูดภาษาไทยถิ่นตากใบในชีวิตประจำวันอยู่ในขณะนี้ จะต้องมีประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนร่วมกันมาในอดีต ปัจจุบันก็ต้องเกี่ยวข้องกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี แสดงว่าเราสามารถใช้ภาษาถิ่นเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนได้

ภาษาถิ่นเป็นบ่อเกิดของวรรณกรรมท้องถิ่น ผลการสำรวจวรรณกรรมท้องถิ่น ที่สืบทอดกันด้วยวาจา หรือเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาปากต่อปาก (มุขปาฐะ) และวรรณกรรมที่ได้มีผู้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น วรรณกรรมสมุดข่อย วรรณกรรมใบลานและ ศิลาจารึก พบว่ามีจำนวนมหาศาล วรรณกรรมเหล่านี้มีหลายประเภท เช่น วรรณกรรมเกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ นิทานประโลมโลก ตำนาน เป็นต้น วรรณกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคือ เป็นวรรณกรรมที่ใช้ภาษาถิ่นเป็นสื่อในการถ่ายทอด ดังนั้นถ้าไม่มีภาษาถิ่นวรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ดังนั้น ภาษาถิ่นจึงมีความสำคัญคือ เป็นภาษาประจำถิ่นของกลุ่มชนที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และสืบทอดต่อเนื่องมายังลูกหลาน โดยผ่านวัฒนธรรมทางภาษาที่เป็นรากฐานทางประวัติศาสตร์และเป็นบ่อเกิดของวรรณกรรมท้องถิ่น