หลวงปู่ทวดมีนามเดิมว่าปู เป็นบุตรนายหู นางจัน ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ดินเศรษฐีปาน บ้านวัดเลียบ หมู่ที่ ๑ ตำบล ดีหลวง อำเภอ สทิงพระ ปัจจุบัน ตายายเป็นชาวบ้านคลองรี ตาชื่อเจิม ยายชื่ออิน วันเดือนปีเกิดของเด็กชายปูยังเอาแน่นอนไม่ได้ บ้างว่าเป็นเดือน ๔ ปีมะโรง ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๒๕ บ้างว่าปี พ.ศ. ๙๙๐ ฉลู สัมฤทธิศก บ้างว่า พ.ศ. ๒๑๓๑ โดยอนุมาน เข้าใจว่าคงเป็นปลายสมัยมหาธรรมราชา อาจเป็นปี พ.ศ. ๒๑๒๕ หรือ ๒๑๓๑ ก็ได้หลังจากคลอด รกถูกนำไปฝังไว้ใต้ต้นเลียบ เดี๋ยวนี้ต้นเลียบต้นนั้นโตมหึมา วัดโดยรอบ ๑๐ เมตรกว่าเห็นจะได้ โคนตบแต่งโล่งเตียน ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้หลายองค์ มีกุฏิสงฆ์โดยรอบ เลียบต้นนี้ชาวบ้านถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ บวงสรวงบูชากันมิได้ขาด
ตอนเด็กชายปูยังเป็นทารก มีเรื่องเล่าเป็นปฏิหาริย์เอาไว้ว่า หลังจากนางจันเลิกอยู่ไฟก็ออกเกี่ยวข้าวทันที วันหนึ่งนางไปเก็บข้าวก็เอาบุตรให้นอนในเปลใต้ต้นหว้า งูบองหลาขึ้นมานอนบนเปลนั้น มารดาบิดามาเห็นตกใจ งูก็เลื้อยหายไป แต่ได้คายแก้ววิเศษเอาไว้ให้
ดวงแก้วที่พญางูให้ เล่าเป็นตำนานต่อมาว่า เศรษฐีปานขอไปไว้ เป็นเหตุให้เกิดความวิบัตินานาประการ จึงนำมาคืนพร้อมมอบทรัพย์สินต่างๆ ให้ จากนั้นมาฐานะของนายหูก็ดีขึ้นตามลำดับ สำหรับเรื่องดวงแก้วนี้มีว่า เมื่อมีการซ่อมเจดีย์ในสมัยหลวงปู่ทวด ท่านได้นำดวงแก้วนี้บรรจุไว้ยอดเจดีย์ ต่อมา ฟ้าผ่ายอดเจดีย์ ดวงแก้วตกมาอยู่ใกล้ๆ เจดีย์ ภายหลังเด็กๆ เล่นสะบ้า ลูกเกยกระเด็นเข้าไปในป่าที่ดวงแก้วติดอยู่ เด็กเห็นเป็นลูกแก้วประหลาด จึงนำไปบ้านเพื่อมอบให้แก่พ่อแม่ เมื่อถึงประตูชัยไม่สามารถออกจากวัดได้ เพราะมีงูใหญ่ขัดขวางไว้ และประตูวัดมืดมิด เด็กก็นำเอาลูกแก้วไปมอบแก่เจ้าอาวาส ต่อมาดวงแก้วถูกคนนำไป ๓ ครั้ง แต่เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้นำไปทุกครั้งไป และได้กลับคืนมาไว้ ณ วัดพะโคะอีกครั้งหนึ่ง ราว พ.ศ. ๒๔๗๑ มีนายจีน บ้านท่าคุระ เป็นคนเสียสติเอาดวงแก้วไป ณ บ้านท่าคุระ ขณะที่นายจีนนำแก้วไปนั้น ตามองเห็นว่ามีงูใหญ่ไล่ตามไป นายจีนต้องการให้ดวงแก้วพาเหาะไปแต่เหาะไม่ได้ นายจีนจึงโกรธมาก จึงเอาแก้ววางลง แล้วเอาหินขนาดใหญ่ทุ่มทับลงบนดวงแก้ว แก้วก็แตก ภายหลังมีผู้ชิงเอาดวงแก้วมามอบให้แก่เจ้าอาวาสดังเดิม ส่วนนายจีนซึ่งอวดดีว่าตนสามารถทุบแก้วแตก ได้ไปจับช้างเถื่อนที่คลองนางเรียม และถูกช้างจับแทง ฟัดจนลำตัวแขนขาขาดเป็นท่อนๆ ดวงแก้วที่แตกถูกประสานไว้ด้วยลวดทอง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระอาจารย์แก้ว พุทธมุนี วัดดีหลวง และพระชัย วิชโย วัดพะโคะ จะนำไปให้ ช่างหล่อทำใหม่ แต่สมเด็จเจ้าเข้าประทับทรงบอกห้ามไม่ให้ทำหล่อใหม่ สมัยต่อมาประชาชนได้มาทำบุญสมโภชดวงแก้วประจำวันพฤหัสบดีเสมอ
เมื่อเด็กชายปู อายุได้ ๗ ขวบ บิดาได้นำไปฝากกับท่านสมภารจวง ซึ่งเป็นพี่ชายของนางจันผู้เป็นมารดา (หลวงลุง) วัดกุฏิหลวง (วัดดีหลวง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือ เด็กชายปูมีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนหนังสือขอมและไทยได้อย่างรวดเร็ว ครั้นอายุได้ ๑๐ ขวบ ก็บวชเป็นสามเณร และบิดาได้มอบแก้ววิเศษไว้เป็นของประจำตัว ต่อมาสามเณรปูได้ไปศึกษาต่อกับพระชินเสนที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงมากมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่ออายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ต่อมาก็ได้เข้ารับการอุปสมบทมีฉายาว่า “ราโมธมฺมิโก” แต่คนทั่วๆ ไปเรียกว่า “เจ้าสามีราม” เจ้าสามีรามได้ศึกษาอยู่ที่วัดท่าแพ วัดสีมาเมือง และวัดอื่นๆ อีกหลายวัด เมื่อเห็นว่า การศึกษาที่นครศรีธรรมราชเพียงพอ จึงได้ขอโดยสารเรือสำเภาเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา ขณะเดินทางถึงเมืองชุมพร เกิดคลื่นลมทะเลปั่นป่วน เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้ ต้องทอดสมออยู่ถึง ๗ วัน ทำให้เสบียงอาหารและน้ำหมด บรรดาลูกเรือจึงตั้งข้อสงสัยว่า การที่เกิดอาเพศในครั้งนี้เป็นเพราะเจ้าสามีราม จึงตกลงใจให้ส่งเจ้าสามีรามขึ้นเกาะ ได้นิมนต์ให้เจ้าสามีรามลงเรือมาด ขณะที่นั่งอยู่ในเรือมาดนั้น ท่านได้ห้อยเท้าซ้ายแช่ลงไปในทะเล ก็บังเกิดอัศจรรย์ น้ำทะเลบริเวณนั้นเป็นประกายแวววาวโชติช่วง เจ้าสามีรามจึงบอกให้ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่ม ก็รู้สึกว่าเป็นน้ำจืด จึงช่วยกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาจึงนิมนต์ให้ขึ้นสำเภาอีก และตั้งแต่นั้น เจ้าสามีรามเป็นชีต้น หรืออาจารย์ ของเจ้าสำเภาอินสืบมา
อภินิหารที่ท่านสามีรามเหยียบน้ำทะเลจืดเป็นที่โจษขานมาถึงบัดนี้ และเหตุการณ์ตอนนี้เล่าเสริมพิสดารขึ้นว่า ตอนแรกนายอินเชื่อมั่นว่า พระสามีรามเป็นกาลกิณี เรือจึงต้องพายุ เพราะก่อนมาไม่เคยเป็น เมื่อคลื่นลมสงบ จึงคิดจะเอาเจ้าสามีรามปล่อยเกาะ แต่ครั้นเห็นปาฏิหาริย์จึงขอขมาโทษ
เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็ได้ไปพำนักอยู่ที่วัดแค ศึกษาธรรมที่วัดลุมพลีนาวาส ต่อมาได้ไปพำนักอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราช ได้ศึกษาธรรมและภาษาบาลี ณ ที่นั่นจนเชี่ยวชาญ จึงไปจำพรรษาที่วัดราชานุวาส เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๑๔๙ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ประเทศลังกาเคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรแหลมทองภาคใต้ คิดแก้มือด้วยการท้าพนันในการแปลธรรมะ (คัมภีร์) สมเด็จพะโคะ (ขณะนั้นคือเจ้าสามีราม) สามารถทำการแปลธรรมะ (คัมภีร์) ได้สำเร็จถูกต้องทุกประการ จนได้รับชัยชนะพราหมณ์ราชทูต
ราชทูต ทั้ง ๗ จึงยอมแพ้ พระเอกาทศรถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งแต่สมณศักดิ์เป็นที่ “สมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์” พราหมณ์ถวายเครื่องราชบรรณาการของกษัตริย์ประเทศลังกาให้ แต่ไม่ยอมรับและถวายคืนแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฯ ได้พำนักอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลาอีกหลายปี
มีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดโรคไข้ห่า (อหิวาตกโรค) ระบาด สมเด็จเจ้าฯ ก็รับภาระช่วยเหลือแก้ไขความเจ็บป่วยของประชาชนให้หายปกติ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถ ถึงกับทรงมีพระราชดำรัสว่า “ถ้าสมเด็จเจ้าประสงค์สิ่งใด หรือจะบูรณะวัดวาอารามใดๆ จะทรงอุปถัมภ์ทุกประการ” ต่อมาไม่นาน สมเด็จเจ้าฯ ได้ทูลลาสมเด็จพระสังฆราชาธิบดี เพื่อรุกขมูลธุดงค์กลับยังภาคใต้ ซึ่งเป็นมาตุภูมิ ก็ทรงพระอนุญาต และไปถวายพระพรลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวๆ ทรงอาลัยมาก ไม่กล้าทัดทาน เพียงแต่ตรัสว่า “สมเด็จอย่าละทิ้งโยม” แล้วเสด็จมาส่งสมเด็จเจ้าฯ จนสิ้นเขตพระนครศรีอยุธยา
ขณะที่รุกขมูลธุดงค์ สมเด็จเจ้าฯ ได้เผยแพร่ธรรมะไปด้วยตามเส้นทางธุดงค์ ผ่านที่ไหนมีผู้บาดเจ็บก็ทำการรักษาให้ เมื่อผ่านบ้านเมืองใดที่เคยมีผู้มีบุญคุณก็แวะเยี่ยมทุกแห่งด้วยความกตัญญู เป็นเวลานานพอสมควรจึงเข้าเขตเมืองพัทลุง (พะโคะ) (เวลานั้นเมืองพัทลุงได้ย้ายมาอยู่ที่สทิงพระ) สมเด็จเจ้าฯ ได้พำนักอาศัยอยู่กับท่านอาจารย์ที่วัดกุฏิหลวงอันเป็นมาตุภูมิ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัดพะโคะมากนัก (วัดพะโคะตั้งอยู่กลางเมืองพัทลุงเดิม คือ ใกล้เข้าพัทธสิงห์ ปัจจุบันเรียกว่าสวนนาย) สมเด็จเจ้าฯ กับท่านอาจารย์จวง คิดจะบูรณปฏิสังขรณ์วัดพะโคะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยินดีและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง โปรดให้หานายช่างผู้ชำนาญ ๕๐๐ คน และพระราชทานสิ่งของต่างๆ และเงินตราเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดพะโคะ บูรณะพระมาลิกเเจดีย์ สร้างพระอุโบสถ สร้างพระธรรมศาลา รวม ๓ ปี (พ.ศ. ๒๑๕๑-๒๑๕๔) ยอดพระมาลิกเเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุหล่อด้วยเบญจโลหะยาว ๓๐๑๓ คืบ เรียกว่า “สุวรรณมาลิกเเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ” สมเด็จเจ้าฯ จำพรรษาที่วัดพะโคะหลายพรรษา (ประมาณ ๑๐ พรรษา) หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าฯ หายไปจากวัดพะโคะ เที่ยวจาริกไปในที่หลายแห่ง พร้อมกับเผยแพร่ธรรมะ จากหลักฐานทราบว่าได้ไปที่ประเทศลังกา ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ลังกาจนมีคนเรียกท่านว่า “ท่านลังกา” พำนักที่ไทรบุรี และเมื่อมรณภาพแล้วพุทธศาสนิกชนก็นำศพมาไว้ที่วัดช้างไห้ อำเภอโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สถานที่ๆ สมเด็จเจ้าฯ เคยพำนักอยู่ หรือไปมานับได้ดังนี้ วัดกุฏิหลวง วัดสีหยัง วัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช กรุงศรีอยุธยา วัดพะโคะ วัดเกาะใหญ่ วัดในไทรบุรี และวัดช้างให้
ก็ในขณะที่พระราชมุนีจำพรรษาอยู่วัดพะโคะนั้น ได้วางรากฐานความเจริญให้แก่วัด จนวัดนี้กลายเป็นศูนย์กลางของวัดอื่นในเขตเมืองพัทลุงฝ่ายตะวันออกในสมัยต่อมา ส่วนอภินิหารในช่วงนี้เล่าสืบกันมาว่า ครั้งหนึ่งขณะที่ท่านเดินอยู่ชายทะเล พวกโจรสลัดเห็นเข้าจึงใคร่จะลองดี ได้จับท่านใส่เรือ ชั่วครู่ก็เกิดอัศจรรย์ ทั้งๆ ที่คลื่นสงบแต่เรือแล่นไปไม่ได้ ออกแล่นก็วนเวียนอยู่ที่เดิม ในที่สุดน้ำจืดที่มีอยู่ได้หมดลง ท่านนึกสงสาร จึงแหย่เท้าซ้ายลงในน้ำ แล้ววักน้ำขึ้นล้างหน้าและดื่มกิน พวกโจรเห็นจึงลองดูบ้าง เห็นเป็นน้ำจืดจึงช่วยกันตักเอาไว้ แล้วกราบขอขมาโทษ นำท่านส่งขึ้นฝั่ง ขณะที่เดินทางมาได้หยุดพักเหนื่อย เอาไม้เท้าพิงไว้กับต้นยางซึ่งขึ้นเคียงคู่กัน ต่อมายางนั้นก็คดเยี่ยงไม้เท้านั้น บัดนี้ยางนั้นเรียกว่า “ยางไม้เท้า”
ครั้งสุดท้ายมีสามเณรผู้เคร่งในธรรมรูปหนึ่งออกสืบหาพระโพธิสัตว์ พระอินทร์เนรมิตเป็นคนแก่ นำดอกมณฑาถวายแก่สามเณรพร้อมบอกว่า ภิกษุใดรับดอกไม้นี้ ภิกษุนั้นคือพระโพธิสัตว์ เมื่อสามเณรจาริกไปถึงวัดพะโคะ พระราชมุนีไต่ถามแล้วจึงรับดอกไม้นั้นไว้ นำสามเณรเข้าไปในกุฏิ เข้าฌานสมาบัติแล้วโละหายไปพร้อมสามเณรคืนนั้น
เรื่องสามเณรที่กล่าวนี้มีประวัติส่วนตัวต่างกันเป็นหลายกระแส แต่งดกล่าวให้ยาวความ สรุปเพียงว่า เมื่อสมเด็จเจ้าโละไปมีผู้เห็นเป็นดวงไฟ ๒ ดวง ใหญ่ดวงหนึ่ง เล็กดวงหนึ่ง ลอยวนรอบวัดพะโคะ แล้วล่องลอยไปทางทิศใต้ ครั้งนั้นประมาณอายุของสมเด็จเจ้าได้ ๔๐ พรรษา
การโละไปของสมเด็จเจ้าฯ เข้าใจว่าจะไปอินเดียหรือลังกา เพราะผู้คนเรียกท่านว่า “ท่านลังกา” อีกนามหนึ่ง โดยเฉพาะทางเมืองไทรบุรี ประเทศมาเลเซียเดี๋ยวนี้
ตามประวัติทางเมืองไทรบุรีเล่าว่า สมเด็จเจ้าได้สร้างวัดไว้ในไทรบุรีวัดหนึ่ง ชื่อ “วัดโกระไหน” ในขณะเดียวกันท่านก็รับเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี อีกวัดหนึ่งตามที่เจ้าเมืองไทรบุรีได้นิมนต์ จากการที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสถึง ๒ วัด เช่นนี้ ทำให้ต้องเดินทางแบบธุดงค์ไปมาระหว่างวัดทั้งสองอยู่เสมอ ขณะที่ท่านเดินทางนั้น สถานที่ใดเหมาะก็พักแรมหาความวิเวกเพื่อบำเพ็ญสมาธิ ใช้เวลาพักนานๆ เช่น ภูเขา ถ้ำหลอดอำเภอสะบ้าย้อยก็ปรากฏว่ามีสิ่งที่ควรเชื่อถือได้ว่าท่านเป็นผู้ทำไว้ จากนั้นก็ปรากฏอยู่บนเพิงหินบนภูเขาตังเกียบ น้ำตกทรายขาว ทางทิศตะวันออกของลำธารน้ำตก มีพระพุทธรูปแกะด้วยไม้ตำเสาแบบพระยืนสององค์ ชาวบ้านตำบลทรายขาวเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า “หลวงพ่อตังเกียบเหยียบน้ำทะเลจืด” คาดคะเนกันว่าพระพุทธรูปสององค์ ท่านลังกาหรือหลวงปู่ทวดเป็นผู้สร้างสมัยเดินทางและพักอาศัยอยู่
สมเด็จเจ้าฯ มรณภาพที่วัดโกระไหน ศพได้นำไปประชุมเพลิงที่วัดช้างให้ตามที่ท่านสั่งไว้ การนำศพกลับต้องพักตามรายทาง พัก ณ ที่ใดก็ปักไม้แก่นหมายไว้ทุกแห่ง แม้แต่น้ำเหลืองหยด ณ ที่ใด ก็ให้ปักหมายไว้เช่นเดียวกัน หรือไม่ก็ให้พูนดินให้สูงขึ้น ถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า “สถูปท่านลังกา” เส้นทางที่หยุดพักนั้น ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่บอกแก่พระครูธรรมกิจโกศล และ อาจารย์ทิม ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดช้างให้องค์ก่อน เมื่อคราวออกจาริกธุดงค์สืบประวัติสมเด็จเจ้าในมาเลเซีย เมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว บอกว่า เส้นทางที่หยุดพักศพมี ๑๐ แห่ง รวมต้นทางและปลายทางเป็น ๑๒ แห่ง ดังนี้ วัดโกระไหน บาลิง ดังไกว คลองช้าง ดังแปร ลำปรำ ปลักคล้า คลองสาย ไทรบูดอ ควนเจดีย์ (อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา) และวัดช้างให้
หลังจากสิ้นสมเด็จเจ้าฯ วัดช้างให้ได้ทรุดโทรมลงจนกลายเป็นวัดร้างร่วม ๓๐๐ ปี แต่ที่ประชุมเพลิงและที่บรรจุอัฐิของท่านยังปรากฏสืบมา ชาวบ้านเรียกกันว่า “เขื่อนหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” มีไม้แก่นปักเป็นหลักอยู่บนเนินสูงเป็นเครื่องหมาย ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาอาจารย์ทิม ธมฺมธโร ได้ขุดสถูป (เขื่อน) นั้นเพื่อสร้างใหม่ ได้พบผ้าห่ออัฐิอยู่ในหม้อทองเหลือง สภาพหม้อและอัฐิผุเปื่อย ท่านไม่กล้าแตะต้อง เพราะเกรงจะผิดไปจากสภาพเดิม จึงได้สร้างสถูปสวมครอบสถูปเดิมไว้
อภินิหารของหลวงปู่ทวด ท่านสำแดงให้ปรากฏภายหลังจากมรณภาพไปแล้ว มีที่ควรนำกล่าวดังต่อไปนี้
ชาวบ้านโดยรอบวัดพะโคะพบปรากฏการณ์อย่างหนึ่งอยู่เสมอ คือเมื่อมีพิธีสำคัญๆของวัด เมื่อเกิดความวิปริตผิดธรรมดาขึ้นในหมู่บ้าน มักจะปรากฏดวงไฟ ๒ ดวง ใหญ่ดวงหนึ่ง เล็กดวงหนึ่ง ลอยมาทางทิศใต้ มาตกที่ต้นเลียบที่ฝังรก แล้วลอยต่อไปยังวัดพะโคะหรือตกยังวัดพะโคะ แล้วลอยไปยังต้นเลียบ ดวงไฟ ๒ ดวงนั้น ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวิญญาณของสมเด็จเจ้าฯ และสามเณรที่โละไปพร้อมกัน ส่วนทางวัดช้างให้ยังเชื่อต่อไปว่า ดวงไฟดวงเล็กคืออาจารย์ทิม ซึ่งในกาลก่อนโน้นจุติเป็นสมาเณร ปรากฏการณ์ที่ว่า เกิดขึ้นในครั้งสำคัญๆ เช่น เมื่อวัดดีหลวงจัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ก็ปรากฏ ดังที่ ลั่น กาญจโน เล่าว่า
“พระคณาธิการอาจารย์เข้าสวดพิธีเสกผงลงเบ้า ๑๙ รูป สวดสูตรที่ต้องการจบแล้ว พอถึงเวลาราชามหาฤกษ์สวดประชุมชาดก ยัดผงลงเบ้าได้ ๑๐๘ ตอนกลางคืน ๙ ค่ำ เวลา ๒๑.๐๐ น. ๓ ทุ่ม มีดวงแก้วช่วงสว่างมาตกลงที่ต้นเลียบ แล้วรุ่งขึ้นวันที่ ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ก็สวดเสกลงเบ้าได้ครบ ๑๐๘ องค์ แล้วก็หยุดจัดการนำเครื่องทั้งหลายเข้าสู่วัดดีหลวง เข้าสู่กุฏิพิธี จัดยัดลงเบ้าต่อไปราวสองเดือนครึ่ง ตั้งแต่เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ทำไปถึงเดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ ทำขึ้นได้ ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่าพระไตรปิฎก กับทำเท่าศาสนาพระพุทธโคดมของเรานี้ ๕ พรรษาได้ครบแล้ว ได้นิมนต์อาจารย์ที่สำคัญมาร่วมเข้าสวดเสกบรรจุแห่งมนต์ทั้งหลาย ๑๐๘ รูปด้วยกัน มีอาจารย์พระราชาคณะเป็นประธานจัดการเข้าร่วมพิธีปลุกเสก เดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ ตรงกับวันศุกร์ ปลูกศาลาเสมอตา หมอเสือ ดอนด้น เป็นผู้ดำเนินการโรงศาล ในวันเข้าพิธีปลุกเสกในคืนนั้น มีดวงแก้วช่วงมาจากต้นเลียบลอยมาสู่วัดดีหลวงเข้าสู่สำนักพิธี มีลมพัดโหมขึ้น มีฝนปรายมาผ้าพอชำเล็กน้อย ส่วนฟ้าสว่างดีมีดาวโปร่ง”
ปรากฏการณ์ที่เห็นเป็นดวงไฟนี้ ถ้าปรากฏขึ้นทั่วๆ ไปชาวบ้านถือว่าสมเด็จเจ้าฯ มาเยี่ยมลูกหลาน เมื่อถึงวันพฤหัสบดี จึงจัดพิธีบวงสรวงขึ้น ณ วัดพะโคะ
บางคราวสมเด็จเจ้าฯ ปรากฏองค์ให้เห็น อย่างคราวปลุกเสกพระเครื่องดังกล่าวมา ขณะที่พระอาจารย์ทุกรูปร่วมสมาธิเสกสรรบรรจุแห่งมนต์ ท่านพระครูอุดม อุตฺตโม วัดสามบ่อ เจ้าคณะตำบลวัดสน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เข้าสมาธิเพลินไป ดุจนิมิต แต่เหมือนไม่ใช่นิมิต ดุจลืมตาขึ้น เห็นท่านมายืนสมาธิเสกพระอยู่ และในพิธีเดียวกันนี้ อาจารย์หมุนปิดตาเข้าสมาธิ ก็เห็นเช่นเดียวกัน อีกครั้งหนึ่งในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ เวลา ๘.๐๐ น. ท่านปรากฏองค์ให้เห็นที่ต้นเลียบฝังรก โดยนั่งผินหลังให้ต้นเลียบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีพระพุทธรูป ๒ องค์ประดิษฐานอยู่เบื้องขวา ผู้ที่เห็นประมาณ ๓๐ คน ชวนกันบูชาอยู่ราวสักชั่วโมงท่านก็หายไป
ทางด้านวัดช้างให้ สมเด็จเจ้าฯ ก็แสดงอภินิหารให้ปรากฏหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเล่ากันว่า ท่านเข้าสิงเด็กน้อยที่พ่อไล่ตีแล้วหนีเข้าวัดช้างให้ (สมัยที่ยังร้างอยู่) ครั้งนั้นท่านให้ชาวบ้านเอาเกลือละลายน้ำใส่อ่าง แหย่เท้าลงแล้วให้ชาวบ้านชิมน้ำก็จืดเป็นอัศจรรย์ เสร็จแล้วกระโดดเข้ายืนกลางกองไฟ เด็กนั้นก็ไม่เป็นอันตราย ครั้งหนึ่งในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขณะที่ทหารญี่ปุ่นนำรถไฟซึ่งขนเสบียงไปกลันตันกลับกรุงเทพฯ เมื่อหัวรถจักรแล่นมาถึงแนวสถูปบรรจุอัฐิของท่านที่วัดช้างให้ ล้อก็หมุนอยู่กับที่ เคลื่อนต่อไปไม่ได้ ถอยหลังกลับไปแล้วมาใหม่ก็คงเป็นเช่นเดิม จนเกิดประกายไฟโชติช่วง แก้ไขอยู่ตั้งแต่บ่าย ๓ โมงจนค่ำก็ไม่สำเร็จ อาจารย์ทิมเห็นแล้วเข้าใจว่าเป็นเพราะอำนาจของสมเด็จเจ้าฯ เป็นแน่ จึงตั้งจิตอธิษฐานขอยกโทษแก่พนักงาน รถไฟจึงผ่านไปได้ อีกครั้งหนึ่ง อาจารย์ทิม เอาเศษเทียนที่ตกอยู่ริมสถูปของสมเด็จเจ้าฯ มาคลึงเป็นรูปกลมๆ แล้วแจกเด็กวัด เด็กเอาผงเทียนนั้นอม แล้วใช้มีดลองแทงฟันกัน ปรากฏว่าไม่เข้า อภินิหารของสมเด็จเจ้ายังมีอีกมาก เพียงสรุปกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น
ด้วยกิติศัพท์ของสมเด็จเจ้าฯ ที่เลื่องลือมานาน ตลอดจนอภินิหารที่สำแดงให้เห็นทำให้คนรุ่นหลังถือเอาเป็นที่พึ่ง คุ้มครองให้พ้นจากภัยพิบัติต่างๆ โดยแสดงออกในรูปของการประพฤติปฏิบัติอย่างหนึ่ง และทำรูปเคารพ ตลอดจนผ้ายันต์ขึ้นบูชา อีกอย่างหนึ่ง
การแสดงออกในรูปของการประพฤตินั้น ชาวบ้านโดยรอบวัดพะโคะถือว่า ถ้าปฏิบัติชอบตามที่สมเด็จเจ้าฯ ท่านประสงค์ หรือยอมมอบชีวิตไว้แก่สมเด็จเจ้าฯ แล้ว จะได้รับการคุ้มครองดังเหตุการณ์ ๒๐ ปีที่แล้ว ครั้งนั้นเกิดข่าวลือว่าพญายมจะมาคร่าชีวิตของผู้คนมากกว่าปีใดๆ ผู้คนหวาดกลัวกันยิ่งนัก แต่การคร่าชีวิตนั้นจะยกเว้นให้สำหรับลูกหลานของสมเด็จเจ้าฯ โดยต้องโกนหัวหรือไม่ก็แขวน “จะปิ้งพรก” (จะปิ้งที่ทำด้วยกะลามะพร้าว) ให้เป็นที่สังเกต ปรากฏว่าปีนั้น ชาวบ้านโดยเฉพาะเด็กๆ โกนหัวเกือบหมด เด็กผู้หญิงแขวนจะปิ้งพรกทั่วกัน อีกครั้งหนึ่งระยะเวลาไม่ห่างกันนัก ตกเดือนหกเกิดฟ้าผ่าบ่อยครั้งและรุนแรง ถูกบ้านเรือนเสียหายเป็นที่น่าหวาดกลัว มีผู้บอกวิธีป้องกันว่า ให้เอาก้อนหินที่วัดพะโคะไปไว้บนบ้าน ระลึกคุณหลวงปู่ทวดให้คุ้มครองแล้วจะปลอดภัย ปรากฏว่าผู้คนแห่กันไปเอาหินที่วัดพะโคะจำนวนมากมาจากต่างจังหวัดก็มี
ส่วนการทำรูปเคารพนั้น นับเป็นเรื่องใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเคารพศรัทธาอย่างสูงของชาวบ้านที่มีต่อสมเด็จเจ้าฯ เพราะได้จัดสร้างกันมาหลายที่หลายแห่ง ต่างแบบต่างขนาดกัน มีจำนวนมากมายมหาศาล นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ยิ่ง
อันว่าประวัติสมเด็จพระราชมุนี หรือ สมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ หรือ สมเด็จเจ้าพะโคะ หรือหลวงปู่ทวด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันนี้นั้น เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและน่าวิเคราะห์วิจัย โดยเฉพาะเรื่องสมณศักดิ์ของท่านก็ดี เรื่องที่มีผู้เข้าใจกันว่า ท่านคือพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ก็ดี เรื่องอภินิหารของท่านก็ดี ซึ่งขอฝากท่านผู้รู้ได้ศึกษาและวินิจฉัยต่อไป บทสรุปเรื่องนี้คงจบลงอย่างสั้นๆ ว่า ท่านเป็นบุคคลมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์และพงศาวดาร มีบุญญาภินิหารเป็นที่เลื่องลือมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะแก่ผู้เลื่อมใสศรัทธาในองค์ท่าน และกล้ายืนยันได้ว่า มงคลวัตถุของท่านแม้จะมีการสร้างภายหลังยุคของท่านก็ตาม แต่ก็มีผู้สร้างเป็นจำนวนมากที่สุดยิ่งกว่าพระเถระรูปใดๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และนั่นคือประจักษ์พยานชิ้นสำคัญว่าองค์ท่านมีบุญญาภินิหารและกฤษฎาภินิหารอันโอฬารล้ำเลิศวิเศษจริง หาไม่แล้วจะมีผู้เพิ่มพูนความเลื่อมใสศรัทธาเป็นทวีคูณดังเช่นทุกวันนี้ได้อย่างไร
(บทความข้างต้นนี้ได้คัดลอกมาจาก หนังสือ “ประวัติและวัตถุมงคล หลวงปู่ทวด” โดย สุวัฒน์ เหมอังกูร)