(2 พ.ย.63) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 5 ในฐานะคณะทำงานทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ออกมาแสดงความเห็นว่าสหรัฐอเมริกา ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP กับสินค้าไทยเพิ่มอีก 231 รายการ มูลค่าราว 18,000 ล้าน เพราะเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจมาจากทำการรัฐประหารไม่มีเครดิตในการเจรจาการค้าในเวทีต่างประเทศ ว่า การแสดงความเห็นดังกล่าวถือเป็น “ตรรกะวิบัติ” สะท้อนคุณภาพข้อมูลของทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ที่ไม่แม่น มองทุกเรื่องเป็นการเมืองไปหมด โดยไม่สนใจปัญหาปากท้องของประชาชน ที่แท้จริง จะเห็นได้ว่า การเชื่อมโยงการตัดจีเอสพีกับข้ออ้างรัฐบาลมาจากการรัฐประหารนั้น เป็นคนละเรื่อง เพราะการจะให้สิทธิพิเศษจีเอสพีกับประเทศใดนั้น เป็นสิทธิของประเทศนั้นๆ ซึ่งโดยหลักการแล้วส่วนใหญ่ มักจะให้กับประเทศที่ด้อยพัฒนา
“การที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิจีเอสพีไทยกลับนั่น เป็นเพราะว่า สถานะของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทัดเทียบให้เป็นคู่แข่งทางการค้ามากกว่า และเว็บไซต์ของ USTR วันที่ 1 พ.ย. 63 เผยแพร่ข้อมูลชัดเจนว่า การตัดสิทธิ GSP ของประเทศไทย เป็นเพราะประเด็นเนื้อหมู โดยเกิดจากที่ไทย ไม่เปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมู ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯ เพราะประเทศไทยห่วงประเด็นผลกระทบด้านสุขภาพและอนามัยของประชาชน
ฉะนั้นพรรคเพื่อไทย ควรหาข้อมูลก่อน ไม่ควรนำเอาเรื่องนี้มาผสมโรงกับเรื่องการเมืองให้สับสนปนเป นำประเด็นที่รัฐบาลทำเพื่อสุขภาพของประชาชนมาโจมตีบิดเบือน ทำเหมือนพรรคเพื่อไทยไม่เข้าใจในการสนใจห่วงใยสุขภาพของพี่น้องประชาชน ทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยคงต้องทบทวนว่า การมองปัญหาอย่างตื้นเขินเช่นนี้ หรือเอาการเมืองเข้าไปยุ่งเสียทุกเรื่องเช่นนี้ เพียงหวังเพื่อจะดิสเครดิตรัฐบาล เป็นการเล่นการเมืองแบบย้อนยุค จะทำให้ประชาชนขาดความศรัทธาเชื่อถือ” น.ส.ทิพานัน กล่าว
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สิ่งที่เป็นหลักฐานยืนยันความแข็งแกร่งของประเทศไทย คือรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุข้อมูลล่าสุดปี 2562 สัดส่วนคนจนลดลงเหลือ 6.24% หรือมีคนจน จำนวน 4.3 ล้านคน จากปีก่อนหน้านี้ที่มีสัดส่วนคนจน 9.85% หรือจำนวน 6.7 ล้านคน ส่งผลให้ภาพรวมคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,847 บาท/คน/เดือน จากปี 2560 ที่มีรายได้ 9,614 บาท/คน/เดือน หรือ เพิ่มขึ้น 2.42% ขณะที่ครัวเรือนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 2,823 บาท/คน/เดือนในปี 2560 เป็น 3,016 บาท/คน/เดือนในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 6.81% ทั้งนี้ การลดลงของคนยากจนในปี 2562 สะท้อนถึงผลงานการทุ่มเททำงานของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งเกิดจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก
น.ส.ทิพานัน กล่าวอีกว่า หากติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย. 2563 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่สถานการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวล เห็นได้จากผลการสำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ประชาชน เป็นห่วงว่า การชุมนุมทางการเมืองจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ไปกว่านี้ ดังนั้น ทุกฝ่ายควรแก้ไขปัญหากันด้วยความจริงใจ โดยคำนึงถึงประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก ซึ่งในขณะนี้มีเวทีของคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่ทุกฝ่ายควรจะได้เข้ามาหาทางออกร่วมกันก่อนประเทศพัง
เครดิต https://www.thairath.co.th/news/politic/1967210