“พระชินราช” เป็นพระเครื่องศิลปะแบบอู่ทองยุคต้น (หน้าแก่) ได้กำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับ “พระพุทธชินราช” องค์ใหญ่ในวิหาร “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” ของเมืองพิษณุโลกครั้งนั้นด้วย
กรุพระเครื่องในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้ถูกคนร้ายลอบเปิดกรุเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. 2441-43 (สมัยร.5) ก็ปรากฏว่า “พระชินราช” ก็ได้มีขึ้นจากกรุครั้งนั้นด้วย และต่อมายังพบพระพิมพ์นี้ในบริเวณวัดใหญ่อีกหลายครั้ง เช่น ที่กรุอัฏฐารส, กรุประตูชัย, กรุต้นโพธิ์ และกรุพระปรางค์ ฯลฯ พระชินราชมีสร้างทั้งชนิดเนื้อสัมฤทธิ์, เนื้อชิน, เนื้อดิน และเนื้อชินเขียว ส่วน พิมพ์จะมีทั้งพิมพ์ใหญ่, พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก ทั้งแบบฐานสูงก็มีด้วย
พระชินราชจะมีทั้งชนิดเนื้อชินสนิมเกล็ดกระดี่ และชนิดสนิมดำตีนกา (บางองค์ปิดทองด้วย) ที่เป็นพระผิวปรอทขาวกับชนิดเนื้อดินนั้นเข้าใจว่าได้สร้างกันต่อมาในระยะหลัง ขณะนี้พระเครื่อง “ชินราช” จากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุของเมืองพิษณุโลก ได้เป็นของหายากไปนานแล้ว จะมีหลงเหลืออยู่ตามสนามพระก็ไม่เกิน 5% นอกจากนั้นส่วนมากเป็นของปลอมจาก “มือผี” เกือบทั้งสิน ใครใคร่สนใจก็ควรระวังไว้ให้มากด้วยครับ! “พระชินราช” นับเป็นพระเนื้อชินยอดนิยมอีกสกุลหนึ่งของเมืองพิษณุโลก จึงไม่ว่าจะเป็นเนื้อชินหรือดินก็ตาม
ถ้าลงเป็น “พระชินราช” ของกรุวัดใหญ่แล้ว พระพุทธคุณเท่าที่มีประสบการณ์มาแล้ว จะดีทั้งด้านเมตตามหานิยม, แคล้วคลาด และคงกระพันด้วยครับ
โดยอาจารย์ ประชุม กาญจนวัฒน์