“กาญจนบุรี” นับเป็นเมืองเก่าแก่มาแต่ครั้งสมัยทวาราวดี, ลพบุรี, อู่ทอง และจนถึงสมัยอยุธยา “เมืองกาญจน์” ก็ยังเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญยิ่งระหว่างพม่ากับไทย หรือพูดได้เลยว่ากาญจนบุรีคือ จุดนัดพบระหว่างพม่า ซึ่งเป็นผู้กระหายสงครามกับไทย ซึ่งต้องออกโรงป้องกันบ้านเมืองด้วยเลือดอยู่ตลอดเวลา มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์จึงสงบลง
อันที่จริงแล้ว ในเขตกาญจนบุรีเรานี้ เมื่อครั้งสมัยอู่ทองได้ชื่อว่า “เมืองท่ากระดาน” ที่มีความเจริญมาก โดยเฉพาะด้านการศาสนา (ปัจจุบันนี้เมืองท่ากระดาน คือ ตำบลท่ากระดาน อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี) และที่เมืองท่ากระดานนั่นเองก็คือ กรุกำเนิด “พระท่ากระดาน” เป็นครั้งแรก ซึ่งได้มีการขุดพบจากวัดสำคัญรวมด้วยกัน 3 วัด คือ วัดเหนือ, วัดกลาง และวัดใต้
“พระท่ากระดาน” หรือที่ผู้เขียนเคยขนานนามไว้เมื่อ 18 ปีที่แล้วว่า “ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง” นั้นได้มีผู้ขุดพบครั้งแรกจากเนินดินที่ข้างวิหารร้าง ณ “วัดกลาง” ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองท่ากระดานเก่าเมื่อ พ.ศ.2460 พระเครื่องที่ได้ครั้งนั้นเป็นพระพิมพ์ท่ากระดานทั้งหมด เพียง 10 กว่าองค์เท่านั้น และต่อมาไม่นานนักก็ขุดพบได้อีกที่วัดเหนือ และวัดใต้ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับวัดกลางนั่นเอง
เหตุที่ “พระท่ากระดาน” มีชื่อเสียงโด่งดังมากมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว ก็เพราะได้มีผู้นำพระดังกล่าวไปลองยิงกัน ปืนยิงไม่ออก หรือยิงออกก็ไม่เข้า ผู้คนรู้ข่าวก็พากันไปขุดค้นพระท่ากระดานกันยกใหญ่ ถึงกระนั้นก็ได้พระขึ้นจากกรุไปอีกมิใช่น้อย จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2495 ก็ได้มีผู้ไปขุดพบ “พระท่ากระดาน” ที่วัดกลางอีกครั้ง ครั้งนี้กรุพระอยู่ใต้ต้นลั่นทม (ต่อมาเรียกว่ากรุต้นลั่นทม) ได้พระท่ากระดานขึ้นจากกรุทั้งหมดประมาณเกือบร้อยองค์ ซึ่งพระส่วนมากมักจะปิดทองมาแต่เดิมไว้เหลืองอร่าม งดงามเรียบร้อยมาก นอกจากนั้นยังมีผู้ไปพบพระท่ากระดานอยู่ในถ้ำอีกมิใช่น้อย พระท่ากระดานที่ขึ้นจากกรุเมืองท่ากระดานเก่าแต่ละครั้ง ล้วนแต่เข้มข้นทั้งศิลปะและสนิม และนี่เองคือที่มาของ “ขุนศึกแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง” ที่เรียกว่า “พระท่ากระดาน” ตั้งแต่นั้นมา
“พระท่ากระดาน” กรุเก่าซึ่งพบในระยะแรกจากบริเวณตัวเมืองท่ากระดานสมัยโน้น นับว่าเป็นพระเครื่องศิลปะแบบอู่ทองยุคต้น ที่แสดงอารมณ์ออกทางพระพักตร์ไว้เคร่งเครียดยิ่ง “พระท่ากระดาน” เป็นพระเนื้อตะกั่วทั้งหมด (ที่เป็นเนื้อชินศิลปะตะกั่วก็มี แต่หามาชมได้ยาก) โดยมีสนิมแดงแซมไขขาวไว้ค่อนข้างหนามาก สร้างเป็นพระเครื่องศิลปะแบบอู่ทอง (หน้าแก่) ยุคต้น ขนาดประมาณ 2.6 x 4.7 ซ.ม. โดยจะเล็กหรือใหญ่ไปอีกเล็กน้อยเท่านั้น พระทั้งหมดที่ขึ้นจากกรุมีทั้งประเภทไม่ปิดทอง และปิดทองมาแต่เดิมด้วยลักษณะเป็นพระปางมารวิชัยประทับนั่งบนฐานสำเภา โดยสร้างเป็นแบบลอยองค์เกือบทั้งหมดที่ทำเป็นแบบ “พระท่ากระดาน” มีปีกก็มี แต่น้อยองค์จนหาชมได้ยากยิ่ง นอกจากนั้นพระท่ากระดานยังมีทำเป็นเกศตุ้ม, เกศแหลม และเกศคดไว้ด้วย (เกศคดนิยมกันมาก) และยังมีทั้งแบบหน้าแก่กับแบบหน้ากลางอีกด้วย “พระท่ากระดาน” ดังกล่าวไปแล้วนี้คือพระที่พบครั้งแรกจากวัดเหนือ, วัดกลาง และวัดใต้ของเมืองท่ากระดานเก่า
เรื่องราวของพระท่ากระดานจากเมืองกาญจน์ ต่อมายังมีผู้พบที่วัดเทวสังฆาราม, วัดเขาชนไก่, วัดท่าเสา และจากเนินดินร้างอีกหลายแห่งในตำบลลาดหญ้า ซึ่งก็ได้พระขึ้นมาจากกรุมาอีกมิใช่น้อย แต่ทั้งสนิมและศิลปะก็ล้วนแต่เป็นพระที่สร้าง ในสมัยอยุธยาเกือบทั้งสิ้น (แบบอู่ทองหน้าหนุ่ม) และนอกจากจะเป็นเนื้อตะกั่วสนิมแดง (ไม่จัด) แล้ว ที่เป็นเนื้อชินปนตะกั่วก็มีสร้างไว้เช่นกัน
ขณะนี้ “พระท่ากระดาน” นับเป็นเครื่องชั้นหนึ่งอีกสกุลหนึ่งที่จะหาเช่า ได้ยากเสียแล้ว ที่ยังพอหลงๆ อยู่ในวงการส่วนมากมักเป็นของเถื่อน ทำปลอมกันออกมาด้วยฝีมือใกล้เคียงของจริงมาก รู้แล้วอย่าประมาทหลงเช่ากันง่ายๆ เพราะของจริงเขาสนนราคาเช่ากันใกล้หลักแสนแล้วครับ ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลองที่ได้ชื่อว่า “พระท่ากระดาน” นี้ นับว่าเป็นพระเครื่องที่เน้นหนักทางด้านคงกระพันมหาอุตม์ ที่อยู่ในระดับ “เหนือมัจจุราช” อย่างได้ผลและมีประสบการณ์กันมาแล้วมากรายครับ
โดยอาจารย์ ประชุม กาญจนวัฒน์