กรุง ศรีวิไล (กรุงศรีวิไล สุทินเผือก) | ประวัติส่วนตัว – ข่าวล่าสุด – ข้อมูลล่าสุด

+ประวัติบุคคล

กรุง ศรีวิไล มีชื่อจริงว่า กรุงศรีวิไล สุทินเผือก (ชื่อเดิม: นที สุทินเผือก; ชื่อเล่น: เอ๊ด) เกิดวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

กรุง ศรีวิไล เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนบางพลีน้อย หลังจากนั้นก็ต่อชั้นมัธยมปลายในตัวอำเภอ โดยอาศัยอยู่ในวัด จนเมื่อเรียนจบชั้น ม.6 ได้ย้ายไปต่อที่โรงเรียนในตัวจังหวัด เพื่อเรียนชั้น ม.7 ยังไม่จบชั้น ม.8 ดีจึงได้ตัดสินใจเข้าสู่กรุงเทพ สอบเข้าโรงเรียนช่างกลปทุมวัน เรียนได้อยู่ 2 ปีเศษก็ถูกสั่งให้ออก ได้เรียนภาษาอังกฤษ และพิมพ์ดีดเพิ่มเติมหลังจากถูกสั่งออก จนได้รู้จักกับผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งได้ฝากเข้าทำงานให้กับกรมศุลกากร เป็นฝ่ายติดต่อราชการ งานด้านชิปปิ้ง ทำได้ 4 ปีได้ตัดสินใจเปิดร้านขายผ้าไหมส่งออกที่โรงแรมแมนดาริน และต่อยอดทำธุรกิจเพิ่มโดยเปิดร้านจิวเวลรี่ แต่พอย่างเข้าปีที่4 กิจการเริ่มไปไม่ไหว เพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนก็หนีไปฮ่องกงพร้อมกับเงินสดในร้าน จนต้องปิดกิจการไปลงในทีสุด

กรุงเข้าสู่วงการโดยการชักนำของ ประมินทร์ จารุจารัต เล่นหนังเรื่อง ลูกยอด เป็นเรื่องแรกคู่กับ เพชรา เชาวราษฎร์ ซึ่งเป็นช่วงที่มิตร ชัยบัญชาเสียชีวิตแล้ว ทำให้บรรดาผู้สร้างหนังต่างก็พากันปั้นพระเอกใหม่กันอย่างคึกคัก และมาดังมากกับภาพยนตร์เรื่อง ทอง ภาค 1 กับเรื่อง ชู้ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องชู้นี้ทำให้ได้รางวัลตุ๊กตาทอง และได้รางวัลดารานำชายยอดเยี่ยมของเอเชีย จากภาพยนตร์เรื่อง ทอง ภาค 1 ที่ส่งไปประกวดที่ไทเป หรือไต้หวันในปัจจุบัน และ กรุง ศรีวิไล ได้แสดงนำคู่กับนางเอกดังมากมาย เช่น เพชรา อรัญญา นามวงศ์ วันดี ศรีตรัง, ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์, เนาวรัตน์ ยุกตะนันทน์, ธัญรัตน์ โลหะนันท์ มีผลงานอีกมากมายอย่าง ตามรักตามล่า (2515), สะท้านกรุง (2515), สวรรค์เวียงพิงค์ (2516), อีหนู (2516), จ้าวทุ่ง (2516), ขัง 8 (2517), รสรักลมสวาท (2517), ผู้ชายขายตัว (2517), กราบที่ดวงใจ (2517), ตัดเหลี่ยมเพชร (2518), รักข้ามโลก (2519), ซุปเปอร์ลูกทุ่ง (2520) เป็นต้น

โดยชื่อ “กรุง ศรีวิไล” ตั้งโดยเลียว ศรีเสวก (อรวรรณ) มาจากชื่อตัวละคร “กรุง ศรีวิลัย” ตัวเอกในเรื่อง ลูกยอด ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร บางกอก และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตการแสดงของกรุง

นอกจากนั้น กรุง ศรีวิไล ยังมีโอกาสได้เล่นกับดาราต่างประเทศอย่างเช่นเรื่องทองที่แสดงร่วมกับเกริก มอริส Greg Moris และคริส มิตชั่น พระเอกจากฮอลลีวูด ในเรื่องตัดเหลี่ยมเพชร เป็นต้น หลังจากนั้นก็ได้ห่างหายจากวงการบันเทิงไประยะหนึ่ง แต่ต่อมาไม่นานก็มีผู้ตามตัวเพื่อให้เล่นภาพยนตร์เรื่อง ซุปเปอร์ลูกทุ่ง ร่วมแสดงกับนักแสดงตลกชื่อดัง ล้อต๊อก จากภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้กรุงได้รับฉายาว่า “พระเอกซุปเปอร์ลูกทุ่ง” และได้เริ่มมีการออกโชว์ตัวตามจังหวัด เมื่อเห็นว่าไปได้ดีจึงฟอร์มวงดนตรี ใช้ชื่อเดียวกับหนัง คือ “ซุปเปอร์ลูกทุ่ง-กรุง ศรีวิไล” ซึ่งก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เดินสายเล่นดนตรีอยู่ได้ 5 ปี 8 เดือน เขาก็ตัดสินใจยุบวง และหยุดจากวงการบันเทิงไป 5 ปี จึงเริ่มหวนสู่จอแก้วอีกครั้ง ในช่วงแรกรับเล่นละครแนวจักรๆ วงศ์ๆ และเริ่มพลิกบทบาทจากพระเอกมาเล่นเป็น บทตัวร้าย จนถึงปัจจุบัน กรุง ศรีวิไล ก็ยังคงมีงานแสดงอยู่ตลอดเช่นเรื่อง อังกอร์ ภาค 2, เหล็กไหล, ดวง, สุภาพบุรุษตีนควาย, บอดี้การ์ดแดดเดียว ฯลฯ

ทางด้านกิจการส่วนตัว เป็นผู้จัดการทั่วไป บริษัท A.G.Car และยังเป็นผู้จัดการหมู่บ้านจัดสรรที่บางใหญ่ หมู่บ้านเมืองเพชรวิลเลจ 5 และยังเป็นประธานกรรมการของสถานตากอากาศไทรโยก ริเวอร์วิว รีสอร์ทด้วย ส่วนทางด้านชีวิตครอบครัว กรุง ศรีวิไลมีบุตรทั้งหมด 5 คน จากภรรยา 3 คน โดยภรรยาคนปัจจุบันชื่อ พรรณวิภา (เหมียว) มีบุตรด้วยกัน 2 คน เป็นหญิง 1 ชาย 1 โดยบุตรสาว คือ กมลวรรณ ศรีวิไล (แอล) ปัจจุบันเป็นนางแบบและนักแสดงสังกัดช่อง 7 และบุตรชาย คือ ศวกร สุทินเผือก

การเมือง
ในปี พ.ศ. 2550 ได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวงของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ต่อมาลงรับสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่จังหวัดสมุทรปราการ บ้านเกิด ในนามพรรคพลังประชาชน และได้รับเลือกตั้ง แต่ต่อมา กรุง ศรีวิไล ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ใบเหลืองโดยอ้างว่า เจ้าตัวทุจริตการเลือกตั้งและสั่งเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น แต่ศาลได้ยกคำร้อง ต่อมาหลังจากที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบ เจ้าตัวก็ได้ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย

ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 กรุง ศรีวิไล ได้ประกาศย้ายไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย โดยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยได้ติดประกาศหน้าพรรคห้ามกรุง และ ส.ส. ของพรรคอีก 3 คน เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรค ส่วนกรุงและเพื่อน ส.ส. อีกหนึ่งคน และอดีต ส.ส. จากพรรคเพื่อแผ่นดินอีกหนึ่งคน ได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยในวันเดียวกัน

ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 กรุง ศรีวิไล ได้ลงสมัครเลือกตั้งใน จังหวัดสมุทรปราการ เขต 5 ในสังกัดพรรคภูมิใจไทย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับ สลิลทิพย์ สุขวัฒน์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย โดยก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้เจ้าตัวได้เปลี่ยนชื่อจริงตัวเองมาเป็น กรุงศรีวิไล สุทินเผือก อย่างในปัจจุบัน

กระทั่งวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 กรุง ศรีวิไล ได้เดินทางไปยัง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยเพื่อย้ายไปสังกัด พรรคพลังประชารัฐ และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 แต่ต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม ปีเดียวกัน ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้รับคำร้องของ กกต. กรณีบุคคลใกล้ชิดของกรุง ศรีวิไล นำเงินใส่ซองช่วยเหลืองานศพ ส่งผลให้ กรุง ศรีวิไล ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งต่อมาในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้พิพากษาให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยกรุง ศรีวิไล ยังสามารถสมัครรับเลือกตั้งในคราวนี้ได้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • พ.ศ. 2554 – Order of the White Elephant – 1st Class (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
  • พ.ศ. 2552 – Order of the Crown of Thailand – 1st Class (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฏไทย (ป.ม.)
  • พ.ศ. 2551 – Order of the White Elephant – 2nd Class (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)

ข้อมูลอ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/กรุง_ศรีวิไล