คนใจบุญต้องอ่าน! ตรวจสอบก่อน “โอนเงินบริจาค” ว่าแบบไหน “เถื่อน-ถูกกฎหมาย”

ข่าวด่วนเกาะกระแส

1.มาดูวิธีตรวจสอบก่อนโอนเงินบริจาคและความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่เปิดการรับบริจาค

2.การเปิดบัญชีรับเงินบริจาคไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือเงินอยู่ภายใต้ (กฎหมาย) พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487 ในความหมายของมาตรา 4 รวมถึงการรวบรวมทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย

3.การเปิดรับบริจาคผ่านช่องทางสาธารณะไม่ว่าจะผ่านสื่อโทรทัศน์หรือสิ่งพิมพ์ จะต้องขออนุญาตจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยก่อนซึ่งต้องทำเป็นหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยโดยมีรายละเอียดดังนี้
-วัตถุประสงค์ของกิจกรรม
-วิธีการเรี่ยไร
-จำนวนเงินที่ต้องการเรี่ยไร
-สถานที่ที่จะเรี่ยไร
-วันและเวลาที่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกิจกรรมการเรี่ยไร

4.เมื่อได้รับการอนุญาตจากกรมการปกครองให้จัดกิจกรรมการเรี่ยไรแล้วต้องพกเอกสารนี้ไว้ขณะทำการเรี่ยไรเพื่อให้ตรวจสอบง่าย

5.การอนุญาตจากกรมการปกครองให้จัดกิจกรรมการเรี่ยไรให้ขออนุญาตตามพื้นที่ที่ขอรับบริจาคการเรี่ยไรนั้น สำหรับต่างจังหวัดสามารถขออนุญาตได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ

6.ในการเปิดบัญชีรับเงินบริจาค ไม่ได้ระบุว่าห้ามเปิดบัญชีในชื่อผู้ขอรับบริจาค แต่ไม่นิยมทำกันเพราะเมื่อมีการโอนเงินรับบริจาคเข้าบัญชีชื่อบุคคลจะมีการตรวจสอบถึงที่มาของรายได้และต้องยื่นกับกรมสรรพากร จึงมักเปิดบัญชีในนามมูลนิธิเพื่อตรวจสอบได้ง่ายและผู้บริจาคสามารถใช้ใบเสร็จเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้

7.กฎหมายให้ใครเรี่ยไรได้บ้าง
-บุคคลที่มีต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป
-บุคคลนั้นต้องไม่มีจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบหรือผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
-บุคคลนั้นต้องไม่เป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ
-บุคคลนั้นต้องไม่เคยต้องโทษฐาน ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ รับของโจร
-บุคคลนั้นต้องไม่เคยต้องโทษทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะอาญาและพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบห้าปี
-ไม่เป็นบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีความประพฤติหรือหลักฐานไม่น่าไว้ใจ

8.โทษของการเปิดบัญชีรับเงินบริจาคแต่เก็บไว้เอง หากตรวจสอบเจอว่ามีเจตนาฉ้อโกงหรือล่อลวง ผู้เปิดรับบริจาคจะได้รับโทษตาม
-กฎหมายอาญา มาตรา 341 ว่าด้วยกระทำความผิดฐานฉ้อโกง
-อาจได้รับโทษใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ที่มีทั้งโทษจำคุกและปรับ หากการเปิดรับบริจาคนั้นกระทำผ่านสื่อโซเชียล

9.ลักษณะการเปิดรับบริจาคที่น่าเชื่อถือจากหน่วยงานรัฐยึดตามหลักเกณฑ์ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2544

10.ในการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ ดําเนินการดังต่อไปนี้
-กําหนดประโยชน์ที่ผู้บริจาคหรือบุคคลอื่นจะได้รับที่ไม่ใช่ประโยชน์ที่หน่วยงานของรัฐได้ประกาศไว้
-กําหนดให้ผู้บริจาคต้องบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเป็นจํานวนหรือมูลค่าที่แน่นอน เว้นแต่มีความจําเป็นต้องกําหนดเป็นจํานวนเงินที่แน่นอน เช่น การจําหน่ายบัตรเข้าชมการแสดงหรือบัตรเข้าร่วมการแข่งขัน เป็นต้น
-กระทําการใด ๆ ที่เป็นการบังคับให้บุคคลใดทําการเรี่ยไรหรือบริจาคหรือกระทําในลักษณะที่ทําให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ในภาวะจํายอมไม่สามารถปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงที่จะไม่ช่วยทําการเรี่ยไรหรือบริจาคไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
-ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐออกทําการเรี่ยไร หรือใช้ สั่ง ขอร้อง หรือบังคับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือบุคคลอื่นออกทําการเรี่ยไร

11.ดูบัญชีที่ถูกเปิดมาเพื่อรับบริจาคว่าน่าเชื่อถือแค่ไหนจาก
-การเปิดบัญชีในนามมูลนิธิที่มีที่ตั้งมีตัวตนอยู่จริงสามารถออกใบเสร็จรับเงินได้ชัดเจน
-ในนามหน่วยงานรัฐต้องตรวจสอบตามกฎหมายได้
-ในนามนิติบุคคลก็ต้องสามารถตรวจสอบตามกฎหมายได้เช่นกัน

12.ฝากไว้ให้คิดดังนี้
-การเปิดรับบริจาคโอนเข้าบัญชีตัวเองสามารถทำได้แต่ต้องขออนุญาตในเขตพื้นที่มีการเปิดรับบริจาคตามข้อ 3, 4 และ 5 ข้างบนที่กล่าวมาแล้วก่อน
-การเปิดบัญชีรับบริจาคในชื่อเพจสามารถทำได้แต่ชื่อเพจต้องเป็นชื่อเดียวกับที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไว้แล้ว
-นั่นหมายความว่าชื่อบริษัท ชื่อร้าน หรือชื่อเพจต้องเป็นชื่อเดียวกับที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไว้แล้วและได้ขออนุญาตรวมทั้งต้องมีใบอนุญาตจัดให้มีการเรี่ยไรในเขตพื้นที่มีการเปิดรับบริจาคแล้ว

13.ส่วนใหญ่มูลนิธิ บริษัท หรือองค์กรจะเป็นผู้เปิดบัญชีรับบริจาคเพราะสามารถตรวจสอบได้ มีความโปร่งใสของเอกสารและการจัดการทางบัญชีอย่างเป็นระบบ หากเป็นการบริจาคที่มีการโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของบุคคลจะต้องมีผู้ร้องทุกข์ถึงจะตรวจสอบได้

14.ถ้าคุณมีความประสงค์ที่จะบริจาคและอยากให้ความช่วยเหลือดังกล่าวถึงมือผู้ประสบภัยจริงๆ ควรบริจาคผ่านหน่วยงานที่มีความเชื่อถือจะดีกว่า ผู้ให้ก็สุขใจส่วนผู้รับก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

***ที่มาของข้อมูลที่มา: กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
https://multi.dopa.go.th/omd2/laws/cate5 (กฎหมายเกี่ยวกับการเรี่ยไร)