ฉ้อโกงประชาชน

ข่าวด่วนเกาะกระแส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8489/2558

จำเลยที่ 2 จัดสร้างพระเครื่องและโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเช่าบูชาพระสมเด็จเหนือหัวตามสื่อต่างๆ ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ หลายวันหลายเวลาโดยอาศัยช่องทางที่แตกต่างกันทั้งสถานที่และวิธีการชำระเงิน ซึ่งโจทก์ได้นำสืบถึงผู้เสียหายทั้ง 921 รายที่หลงเชื่อตามโฆษณาดังกล่าวและเช่าพระสมเด็จเหนือหัวที่จำเลยที่ 2 จัดทำขึ้นแต่ละรายไป ผู้เสียหายแต่ละคนต่างถูกหลอกลวงคนละวันคนละเวลา จำนวนเงินที่ถูกหลอกแตกต่างกัน ความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายจึงเป็นการกระทำที่แยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22, 47, 48, 59 พระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ.2482 มาตรา 6, 7, 8 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 4,055,916 บาท แก่ผู้เสียหาย 921 คน ตามจำนวนที่ถูกจำเลยทั้งสองฉ้อโกงไป

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 วรรคสอง (5), 47 วรรคหนึ่ง, 48, 59 พระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ.2482 มาตรา 6, 7, 8 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 วรรคแรก (ที่ถูก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฉ้อโกงประชาชนและฐานโฆษณาโดยใช้ข้อความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพของสินค้า เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1 จำคุก 4 ปี จำเลยที่ 2 ปรับ 10,000 บาท ฐานใช้หรือเลียนเครื่องหมายราชการ จำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ปรับ 2,000 บาท รวม 2 กระทง จำเลยที่ 1 จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 2 ปรับ 12,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ผู้เสียหาย 921 คน ตามจำนวนที่ผู้เสียหายแต่ละคนเช่าบูชาพระสมเด็จเหนือหัวไปจากจำเลยทั้งสองรวมเป็นเงินไม่เกิน 4,055,916 บาท ตามที่โจทก์ขอ

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน รวม 921 กระทงหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจรับจ้างผลิตและจำหน่ายพระเครื่องและวัตถุมงคล เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 มูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยพระวิสุทธาธิบดี ประธานกรรมการอำนวยการและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิในขณะนั้น มอบหมายให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัวเพื่อนำออกให้ประชาชนเช่าบูชาเพื่อหาทุนสร้างอุโบสถสองกษัตริย์ ที่วัดโสดาประดิษฐาราม จังหวัดราชบุรี ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองร่วมกันออกแบบจัดสร้างพระเครื่อง ตั้งชื่อว่า พระสมเด็จเหนือหัว ด้านหน้าเป็นพระพิมพ์สมเด็จวัดระฆัง ด้านหลังพิมพ์ประทับรูปมงกุฎ ลักษณะคล้ายตราเครื่องหมายพระมหามงกุฎอันเป็นตราสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน จำเลยทั้งสองโฆษณาประชาสัมพันธ์พระสมเด็จเหนือหัวทางสื่อต่าง ๆ ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ รถแห่ประชาสัมพันธ์ ให้ปรากฏแก่ประชาชนว่าพระสมเด็จเหนือหัว จัดสร้างโดยมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สร้างจากมวลสารดอกไม้พระราชทาน ผ้าไตรพระราชทาน ผงพุทธคุณและว่านมงคลกว่าหมื่นชนิดจากวัดทั่วราชอาณาจักร โดยจะนำรายได้จากการให้เช่าบูชาไปสร้างอุโบสถสองกษัตริย์ ที่วัดโสดาประดิษฐาราม จังหวัดราชบุรี เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในปีมหามงคลและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 พระสมเด็จเหนือหัวมีด้วยกัน 5 สี มีความหมายเฉพาะว่าสีเหลืองเป็นสีพระมหากษัตริย์ สีชมพูทิพย์เป็นสีพระราชนิยมแห่งปีมหามงคล ทั้งยังระบุสถานที่สั่งจองเช่าบูชาพระสมเด็จเหนือหัวผ่าน 3 ช่องทาง คือ ทางธนาคาร ทางไปรษณีย์และทางร้านค้าทอง มีการจัดส่งพระสมเด็จเหนือหัวไปให้ประชาชนเช่าบูชาที่ธนาคารสาขาต่าง ๆ และที่บริษัทไปรษณีย์ไทย กับร้านค้าทองต่าง ๆ ผู้เสียหายจำนวน 921 คน เช่าบูชาพระสมเด็จเหนือหัว รวมเป็นเงิน 4,055,916 บาท และมีประชาชนรายอื่น ๆ ที่มิได้ร้องทุกข์เช่าบูชาอีกจำนวนมาก โดยหลงเชื่อคำโฆษณาเพราะเข้าใจว่าการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัวและการจัดสร้างอุโบสถสองกษัตริย์มีสถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งความจริงแล้วการจัดสร้างพระสมเด็จเหนือหัวและการจัดสร้างอุโบสถสองกษัตริย์ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์และพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงพระราชทานดอกไม้เพื่อใช้เป็นมวลสาร สำนักพระราชวังกับสำนักราชเลขาธิการไม่ได้รู้เห็นหรืออนุญาตให้ดำเนินการเช่นนั้น จากการให้เช่าบูชาพระสมเด็จเหนือหัวผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้เงิน 7,011,030.82 บาท ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 9,110,999.13 บาท ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 6,675,900.31 บาท และธนาคารออมสิน จำนวน 188,196.80 บาท ผ่านทางไปรษณีย์สาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศได้เงิน 143,190,666 บาท ส่วนทางร้านค้าทองต่าง ๆ ไม่สามารถตรวจสอบจำนวนที่แน่นอนได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการหลอกลวงบุคคลอื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน การหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงนั้น จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองโฆษณาตามสื่อต่าง ๆ ต่อประชาชนทั่วไปต่อเนื่องกัน ไม่เจาะจงเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งและมีเจตนามุ่งเจาะจงจำหน่ายพระสมเด็จเหนือหัวที่สร้างในคราวเดียวกันและในช่วงเวลาเดียวกันเป็นสำคัญ มิได้มุ่งเจาะจงที่ประชาชนเป็นสำคัญ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท โจทก์ฎีกาว่า เป็นความผิดต่างกรรม ขอให้ลงโทษ 921 กระทง เห็นว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกันจัดสร้างพระเครื่องและร่วมกันโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเช่าบูชาพระสมเด็จเหนือหัวตามสื่อต่าง ๆ ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ แผ่นพับและป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ หลายวันหลายเวลา โดยอาศัยช่องทางที่แตกต่างกัน ทั้งสถานที่และวิธีการชำระเงิน ซึ่งโจทก์ได้นำสืบถึงผู้เสียหายทั้ง 921 รายที่หลงเชื่อตามโฆษณาและเช่าพระสมเด็จเหนือหัวที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดทำขึ้นแต่ละรายไป ตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหาย ซึ่งระบุวันเวลาและจำนวนเงินแต่ละรายแตกต่างกันไป ผู้เสียหายแต่ละคนต่างถูกหลอกลวงคนละวันคนละเวลา จำนวนเงินที่ถูกหลอกแตกต่างกัน ความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายจึงเป็นการกระทำที่แยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 921 กระทง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 10,000 บาท นั้นหนักเกินไป เห็นควรแก้ไขโทษให้เหมาะสม

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 921 กระทง ปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 4,000 บาท เป็นเงิน 3,684,000 บาท เมื่อรวมกับโทษปรับฐานใช้หรือเลียนเครื่องหมายราชการตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว รวมปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 3,686,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์