ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด! ธุรกิจยังระส่ำ คนงานโดนปลดรายวัน

ข่าวด่วนเกาะกระแส

1.ทุบเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง กระทรวงแรงงานสั่งจับตาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการพบสัญญาณเสี่ยง

2.ถึงแม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงมาก มีการประกาศคลายล็อกระยะที่ 5 ให้สถานประกอบการทุกประเภทเปิดดำเนินการได้ตามปกติแต่ผลกระทบจากโควิดและสถานการณ์เศรษฐกิจยังมีต่อเนื่อง

3.ในเดือนกรกฎาคม 2563 เริ่มเห็นสัญญาณเสี่ยงโรงงานและสถานประกอบการที่ประสบปัญหาและพยายามประคองตัวช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานจึงเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมรับมือลูกจ้าง พนักงานถูกเลิกจ้างตกงานอีกระลอก

4.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า สถานการณ์แรงงานยังค่อนข้างน่าห่วง พบว่ามีสถานประกอบกิจการที่ใช้มาตรา 75 ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 หรือขอหยุดกิจการทั้งหมดหรือปิดกิจการบางส่วนช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น

5.ช่วงตั้งแต่ 1-21 มิถุนายน 2563 ยอดรวมทั้งหมด 1,310 แห่ง จำนวนแรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 319,824 คน เมื่อโควิด-19 ระบาดแบบกระจายตัวมากขึ้นนั้น ทางภาครัฐประกาศภาวะฉุกเฉิน ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักในเดือนเมษายน 2563 จึงมีการยื่นขอปิดกิจการสูงถึง 2,456 แห่ง ลูกจ้างตกงาน 472,855 คน

6.สรุปยอดปิดกิจการช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.62-21 มิ.ย.63) ทั้งหมด 4,254 แห่ง ลูกจ้างตกงานรวม 853,696 คน เดือนกรกฎาคมนี้ยังต้องจับตาดูสถานการณ์แรงงานอย่างใกล้ชิด

7.อุตสาหกรรมและบริการที่ขอปิดกิจการในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 5 อันดับแรก ดังนี้
-การผลิต เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์-เครื่องยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์โลหะอื่น ๆ
-บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่าและบริการทางธุรกิจ
-การขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์
-การขนส่ง สถานที่เก็บสินค้าและการคมนาคม เช่น การบรรจุหีบห่อเพื่อการขนส่ง รถยนต์รับจ้างขนาดใหญ่ และการขนส่งทางอากาศ เป็นต้น
-การให้บริการชุมชน สังคม และบริการส่วนบุคคลอื่น ๆ เช่น กิจกรรมความบันเทิง

8.กรมการจัดหางานได้รายงานการขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงานช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62-มิ.ย.63) อยู่ที่ 1.1 ล้านราย ในจำนวนนี้ได้ใช้บริการจัดหางานของกระทรวงแรงงานในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2563 รวม 115,748 คน

9.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่าได้เตรียมตั้งรับเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว โดยมีการเยียวยาดังนี้
-การเยียวยาลูกจ้างด้วยการให้ประกันสังคมจ่ายเงินเยียวยาที่ 62% จากอัตราค่าจ้าง เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้ยืดระยะเวลาการปิดโรงงานออกไป อีกทั้งเพื่อให้ลูกจ้าง-นายจ้างได้ปรับตัว
-การฝึกอาชีพให้ลูกจ้างที่ตกงานและต้องการเปลี่ยนอาชีพ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการหรืองานใหม่ที่จะเกิดขึ้น

10.ได้สั่งการให้สำนักงานจังหวัดและสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เฝ้าระวังสถานประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงสถานประกอบการที่มีแนวโน้มเลิกประกอบกิจการหรือเลิกจ้างหรือลดจำนวนลูกจ้างด้วย

11.ให้จัดเตรียมตำแหน่งงานว่างประเภทกิจการเดียวกันไว้รองรับรวมถึงการประสานงานกันในส่วนภูมิภาค เช่น สำนักงานจัดหางานจังหวัด ประกันสังคมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และหอการค้าจังหวัดเพื่อเตรียมมาตรการช่วยเหลือด้วย

12.โปรเจ็กต์ “จ้างงานลดผลกระทบจากโควิด-19” ซึ่งเฟสแรกประสบความสำเร็จอย่างมาก จนต้องเปิดเฟส 2 โดยจ้างงานจากผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนเพิ่มอีกกว่า 400 คน รวมผู้ว่างงานเข้ามาสมัครงานกว่า 8,000 คน ผ่านการสัมภาษณ์ภายใต้โปรเจ็กต์นี้ 3,189 คน

13.นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ ผู้ตรวจราชการกรมและโฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผยว่า การเยียวยาผู้ว่างงาน 62% ของอัตราค่าจ้างรายวันเหลือเฉพาะรอบสุดท้าย คาดว่าจะสั่งจ่ายแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เบื้องต้นใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมรวม 12,000 ล้านบาท

14.ภายหลังจากการติดตามสถานการณ์พบว่ามีแนวโน้มสูงที่จะมีการเลิกจ้าง ปิดกิจการและว่างงานอีกกว่า 7-8 ล้านคน คาดว่าจะมีผู้ประกันตนอยู่ราว 200,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา จึงต้องเตรียมการบริหารเงินเพื่อจ่ายชดเชย โดยเตรียมเสริมสภาพคล่องไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท

15.จากเดิมประเมินไว้ 90 วันที่ภาคธุรกิจจะกลับมาได้เหมือนเดิม ต้องพิจารณาดูว่านายจ้างจะฟื้นตัวได้หรือไม่ หากไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการซึ่งได้ติดตามสถานการณ์เรื่อยอยู่แล้วรวมถึงดูแลสภาพคล่องกองทุนประกันสังคมว่าต้องดึงเงินบางส่วนเข้ามาเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องหรือไม่

16.นายจรูญศักดิ์ ศรีโภชน์สมบูรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เผยว่า การขึ้นประกันตนผู้ว่างงานที่ขอรับสิทธิเยียวยาจากประกันสังคมช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 150,000-170,000 คน ซึ่งค่อนข้างน่าห่วงมาก ขณะนี้ประกันสังคมสิ้นสุดการเยียวยาแล้ว หากบริษัทไม่กลับมาเปิดกิจการตามปกติ พนักงานจำนวนนี้อาจเสี่ยงตกงาน ซึ่งจะหารือกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

17.นายสมบูรณ์ ตรีพรเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ระบุว่า โรงงานต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวนมากที่ไม่สามารถกลับมาประกอบกิจการได้ตามปกติ จาก
-การมีคำสั่งซื้อน้อยหรือไม่มีคำสั่งซื้อเลย ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายภายในโรงงานสูงทำให้ต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราว
-ได้แจ้งใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชลบุรี ระบุว่า ช่วง 2 เดือนตั้งแต่ 3 เมษายน-29 พฤษภาคม 2563 มีสถานประกอบการแจ้งใช้มาตรา 75 รวม 2,572 บริษัท ลูกจ้างได้รับผลกระทบรวม 961,294 คน

18.ข้อสรุปจากการสำรวจพบข้อมูลดังนี้
-เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 มีบริษัท โรงงานในพื้นที่หลายจังหวัดปิดกิจการ เลิกจ้าง ในจำนวนนี้มีทั้งแรงงานที่บริษัทหรือโรงงานจ้างงานโดยตรงและการจ้างงานผ่านซับ
คอนแทรค เช่น
-บจ.พานาโซนิค แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จ.ฉะเชิงเทรา ปิดโรงงานผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้า ย้ายฐานการผลิตไปควบรวมกับโรงงานในเวียดนาม พนักงานถูกเลิกจ้าง 800 คน และมีแผนจะปิดโรงงานเพิ่มอีก
-บจ.ไทยพาฝัน จ.ปราจีนบุรี ผลิตชุดชั้นในสตรี พนักงานถูกเลิกจ้าง 600 คน
-โรงงานปากพนังห้องเย็น จ.นครศรีธรรมราช ผลิตปูพาสเจอไรซ์กระป๋อง ในเครือ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ปิดกิจการ พนักงานถูกเลิกจ้าง 400 คน
-โรงงานไทยเฮอร์ริค จ.ปราจีนบุรี ปิดโรงงาน พนักงานถูกเลิกจ้าง 140 คน เป็นต้น

19.ส่วนบริษัทที่ไม่ได้ปิดกิจการแต่ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยทยอยปลดพนักงานช่วงก่อน
-บริษัท ซัมมิท แหลมฉบัง โอโต บอดี้ เวิร์ค จ.ระยอง ปลดพนักงาน 750 คน
-บจ.ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จ.สมุทรปราการ ปลดพนักงาน 300 คน
-บจ.ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จ.สมุทรปราการ ปลดพนักงาน 200 คน
-บจ.วาย-เทค จ.ปราจีนบุรี ปลดพนักงาน 300 คน
-บจ.ไดกิ้นอินดัสตรีส์ (ประเทศไทย) จ.ชลบุรี ปลดพนักงาน 200 คน
-บจ.E&H Precision Thailand จ.ชลบุรี ปลดพนักงาน 200 คน

20.สำหรับสถานการณ์การจ้างงาน นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งแรกปี 2563 (ม.ค.-29 มิ.ย.) ดังนี้
-การยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) และขยายกิจการใน 21 กลุ่มอุตสาหกรรม มียอดรวม 1,702 ราย
-เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.22% จ้างงานใหม่ 123,794 คน เพิ่มขึ้น 79.23%
-เงินลงทุนรวม 174,850.47 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.09% แม้ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากโควิด -19 แต่ภาคอุตสาหกรรมมีการวางแผนการลงทุนล่วงหน้าทำให้ตัวเลขลงทุนและการจ้างงานสูงขึ้น
-ช่วงไตรมาส 3 และ 4 ผลกระทบจากโควิดจะเป็นตัวชี้วัด คาดว่าทั้งปี 2563 จะมียอดขอใบอนุญาต รง.4 ที่ 3,000 โรงเท่ากับปี 2562
-สำหรับความต้องการแรงงานใหม่ถือว่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 ปี อย่างน้อยจะรองรับการจ้างงานให้เพิ่มขึ้นและช่วยแก้ปัญหาการว่างงานของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและรองรับนักศึกษาจบใหม่ได้ในระดับหนึ่ง
-ยอดโรงงานขอยกเลิกกิจการ 404 โรง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ปิดกิจการ 666 โรง เลิกจ้าง 16,680 คน เงินลงทุนลดลง 25,414 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นประเภทกิจการผลิตภัณฑ์จากพืช 47 โรงงาน อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอโลหะ และอื่น ๆ

21.กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก
-กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ต้องการแรงงานเพิ่ม 39,873 คน
-กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 20,112 คน
-กลุ่มผลิตเครื่องจักรเครื่องกล 11,910 คน
-กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 6,002 คน
-กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 5,814 คน
-แยกเป็นการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ 1,267 ราย ลดลง 3.36% จ้างงาน 52,692 ราย เพิ่มขึ้น 25.58% วงเงินลงทุน 71,121.96 ล้านบาท ลดลง 30.16% การขยายกิจการ 435 ราย เพิ่มขึ้น 13.58% จ้างงาน 71,102 ราย เพิ่มขึ้น 53.65% เงินลงทุน 103,728.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.07%