พระกำแพงซุ้มกอ กรุทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชร

พระเบญจภาคี

เมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองโบราณ ปรากฏหลักฐานในจารึกตำนาน พงศาวดาร กล่าวถึงเมืองในชื่อต่างๆ หลายชื่อ ได้แก่ เมืองชากังราว ซึ่งสันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางอยู่บริเวณตัวเมืองกำแพงเพชรปัจจุบัน เมืองนครซุม ปรากฎในศิลาจารึกนครซุม โดยพระมหาธรรมราชาลิไท ราวปี พ.ศ. ๑๙๐๐ เมืองเทพนครปรากฎในตำนานสิหนวัติกุมาร พงศาวดารโยนกรู้จักกันในนามบ้านคนฑี นอกจากนี้ ยังมีเมืองไตรตรึงษ์ เมืองแปบ เมืองสุพรรณภาว เมืองแสนตอและเมืองงบางพาน

นอกจากนี้ บริเวณเมืองกำแพงเพชรยังเป็นต้นกำเนิดของตำนานปรัมปรา เช่น เรื่องท้าวแสนปม จนเกิดการเชื่อมโยงถึงต้นเค้าโคตรวงศ์ของพระเจ้าอู่ทอง ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา ว่าสืบเชื้อสายมาจากทางเชียงรายสืบทอดมายัง เมืองเทพนครและเมืองไตรตรึงษ์ ดังปรากฏในเอกสาร สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ได้แก่ จุลยุทธการวงศ์ เทศนาจุลยุทธการวงศ์ และ จุลยุทธการวงศ์ความเรียง ดังความว่า

…กาลเมื่อพระเจ้าเชียงรายพ่ายแพ้ยุทธสงครามแต่พระยาสะตองเสียพระนคร พาประชาราษฎรชาวเมืองเชียงรายปลาสนาการมาสู่แว่นแคว้นสยามประเทศ ถึงราวป่าใกล้เมืองกำแพงเพชร …บรมกษัตริย์ก็ให้สร้างพระนครลงในที่นั้น จึงให้นามชื่อว่าเมืองไตรตรึงษ์ …สืบๆกันมาถึงสี่ชั่วกษัตริย์ครั้งนั้นยังมีบุรุษผู้หนึ่ง เป็นปมเปาทั่วทั้งกาย …เก็บผลพริกมะเขือขายเลี้ยงชีวิต …พอพระราชธิดาพระยาไตรตรึงษ์มีพระทัยปรารถนาจะเสวยผลมะเขือ …นางก็ทรงครรภ์ …สมเด็จอัมรินทราธิราชนิมิตกายเป็นวานรนำเอาทิพยเภรีมาส่งให้ชายแสนปมนั้น …อันปมเปาทั้งปวงก็อันตรธานหาย …จึงตีกลองนิมิตทองให้ช่างกระทำอู่ทองให้พระราชโอรสไสยาสน์ เหตุดังนั้นพระราชกุมารจึงได้พระนามปรากฏว่าเจ้าอู่ทองจำเดิมแต่นั้นมา …จึงประหารซึ่งทิพยเภรีนิมิตเป็นพระนครขึ้นในที่นั้น ให้นามชื่อว่าเทพนคร …พระองค์ก็ได้เสวยไอสุริยสมบัติในเมืองเทพนคร ทรงพระนามกรชื่อพระเจ้าสิริชัยเชียงแสน ปรากฏในสยามประเทศ…

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ เที่ยวเมืองพระร่วง เกี่ยวกับเมืองกำแพงเพชร ความว่า

…เมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองที่ดูได้ง่าย แต่ที่จะสันนิษฐานเรื่องของเมืองนั้นยากกว่าดูหลายส่วนเพราะจะว่าไม่มีหลักอะไรจะยึดเลยก็ว่าได้ เรื่องราวที่เป็นตำนานก็ไม่พบ ในพงศาวดารเหนือก็ไม่กล่าวถึงในพงศาวดารกรุงทวาราดีที่กล่าวถึงก็ว่าเป็นเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือทีเดียว ไม่ปรากฏว่าใครสร้างในตำนานพระแก้วมรกตนั้นก็กล่าวถึงแต่ว่าเป็นที่ซึ่งพระแก้วเคยไปประดิษฐาน ไม่มีตำนานว่าใครสร้าง ที่สุดศิลาจารึกเมืองกำแพงเพชรนั้นก็ไม่เป็นหลักฐานที่จะชี้ทางให้สันนิษฐานได้ชัดเจน เพราะมีข้อความเฉพาะเรื่องสร้างพระมหาธาตุเท่านั้น แต่คงได้ความจากหลักศิลานั้นอย่างหนึ่งว่า ศักราช ๑๒๓๗ ปีระกา เดือนแปด ออกห้าค่ำ วันศุกร์ เป็นวันที่จะนับจำเดิมอายุแห่งพระธาตุซึ่ง พญาฤไทยราชผู้เป็นลูกพญาเลือไทยเป็นหลานแก่พญารามราช นั้นได้สถาปนาขึ้น ในเมืองนครปุนี้ปีนั้น จึงพึงเข้าใจว่าเมืองนครปุหรือกำแพงเพชรมีอยู่แล้วเมื่อมหาศักราชได้ ๑๒๓๗ ปี คือ ๕๗๑ ปีล่วงมาแล้วแต่จะได้สร้างขึ้นก่อนนั้นเพียงไรก็ไม่มีหลักอะไรที่จะกำหนดได้…

…ที่เรียกว่าเมืองเก่าเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เป็นเมืองเก่าที่สุด คือเมืองที่เรียกในศิลาจารึกว่าเมืองนครปุนั้น ไม่ได้ตั้งอยู่ที่เมืองเก่าตั้งอยู่เดี๋ยวนี้ เมืองนครปุนั้นสันนิษฐานว่าตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองเก่าออกไป ในเวลานี้หาคูหรือกำแพงนครปุมิได้เลย ซึ่งไม่เป็นของประหลาดอันใด เพราะอาจที่จะรื้อกำแพงเก่าเข้ามาทำกำแพงเมืองใหม่ที่ริมฝั่งแควน้อยนั้นได้ประการหนึ่ง หรืออีกประการหนึ่ง เมืองนครปุอาจที่จะเป็นเมืองไม่มีกำแพงซึ่งก่อด้วยอิฐหรือแลงอย่างถาวรก็ได้ เมืองโบราณที่ไม่มีกำแพงเช่นนี้ก็มีตัวอย่างอยู่มาก และยังอยากจะใคร่เดาต่อไปอีกว่า ชื่อเมืองกำแพงเพชรนั้นน่าจะให้ภายหลังเมื่อได้ยกเมืองลงมาตั้งริมลำน้ำแควน้อยแล้ว และได้ก่อกำแพงขึ้นด้วยแลงเป็นที่มั่นคง จึงตื่นกำแพงใหม่นั้นนักหนา จนเปลี่ยนชื่อเมืองเรียกว่าเมืองกำแพงเพชร คือประสงค์จะอวดกำแพงนั้นเอง คราวนี้มีปัญหาซึ่งจะต้องตอบอยู่ข้อหนึ่ง ว่าเหตุไรจึงต้องย้ายเมืองจากที่เดิม ตอบได้ตามความสันนิษฐานทันที่ว่า เพราะลำน้ำเก่าแห้งเขินจึงต้องย้ายเมืองลงไปหาลำน้ำที่ยังมีน้ำบริบูรณ์ เมื่อได้ไปตรวจดูถึงที่แล้วก็แลเห็นพยานปรากฏอยู่ชัดเจนว่าข้อสันนิษฐานไว้นั้นไม่ผิด คือได้พบลำน้ำแห่งหนึ่งซึ่งได้ความว่าในฤดูแล้งน้ำแห้ง แต่ในฤดูฝนมีน้ำไหลลำน้ำนี้ปากไปออกแควน้อย ส่วนข้อที่ว่าเมืองเดิมจะตั้งอยู่แห่งใดนั้น ถ้าเมื่อได้ไปดูถึงที่แล้วก็คงจะตอบปัญหาได้โดยความเชื่อว่าจะไม่พลาดมากนัก คือตามที่ใกล้ๆ ลำน้ำที่กล่าวมาแล้วนั้น มีวัดร้างใหญ่ๆ อยู่ติดๆ กันเป็นหลายวัด ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่าคงจะไม่ได้ไปสร้างไว้นอกเมืองเปล่าๆ และจะต้องพึงเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า ถึงแม้เมื่อได้ย้ายเมืองลงมาตั้งริมฝั่งแควน้อยแล้วก็ยังมีบ้านคนอยู่ในที่ตั้งนครปุเดิม เพราะยังมีถนนจากประตูสะพานโคมด้านตะวันออกแห่งเมืองกำแพงเพชรออกไปจนถึงวัดต่างๆ ในนครปุถนนนี้ถมสูงพ้นจากพื้นดินบางแห่งถึง ๒ ศอกเศษในกาลบัดนี้ก็ใช้เป็นทางเดินไปได้ นี่เป็นพยานอยู่ว่าวัดเหล่านั้นเจ้าเมืองกำแพงเพชรคงจะยังทำนุบำรุงเป็นพระอารามหลวงอยู่ และถ้าเช่นนั้นแล้วก็ต้องสันนิษฐานได้ว่าบ้านคนคงจะต้องมีอยู่ด้วย มิฉะนั้นพระสงฆ์จะอยู่ในวัดนั้นๆ ไม่ได้เลย ถ้าแม้จะต้องเดินเข้ามาบิณฑบาตถึงในเมืองกำแพงเพชรทุกวัน ต้องแปลว่าเดินวันละ ๑๐๐ เส้นเศษเสมอ อยู่ข้างจะลำบากมากอยู่ แต่ยังมีพยานอื่นๆ อีกว่า มีบ้านคนอยู่ตามแถบเมืองเดิมนั้น ซึ่งอาจจะสันนิษฐานได้เมื่อพบบ่อขุดแลงและสิ่งของอื่นๆ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปกับยังมีพยานว่าเมืองเดิมอยู่ทางที่กล่าวแล้วนั้น คือข้างถนนที่เดินจากเมืองกำแพงเพชรนั้น มีสระอยู่ ๒ สระ ราษฎรตามแถบนั้นเรียกว่าสระแก้วกับสระคา (คือคงคา) สระทั้ง ๒ นี้คงจะเป็นที่ขังน้ำในเมืองเดิมเช่น สระอื่นๆ และสระตระพังทอง ตระพังเงิน เมืองสุโขทัย นั้นเป็นต้น แลเมื่อย้ายเมืองไปตั้งใหม่แล้วราษฎรที่ยังคงอยู่แถบเมืองเดิมก็คงยังได้อาศัยน้ำในสระนี้เอง จึงยังคงอยู่ได้ต่อไป…

ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอรรถาธิบายเพิ่มเติมว่า

เรื่องเมืองกำแพงเพชรเก่าใหม่ตรวจในสมัยต่อมาได้ความดังนี้ ที่เรียกว่าเมือง นครปุ นั้นที่ถูกคือเมือง นครชุม เพราะในจารึกเขียน นคระชุ ดังนี้เมื่ออ่านกับชั้นแรกเข้าใจว่าชื่อ นครปุ ต่อภายหลังจึงพิจารณาเห็นว่า ชุ เมืองนี้เป็นเมืองเดิมที่เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าเมืองชากังราว ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกใต้ปากคลองสวนหมาก เมืองกำแพงเพชรที่ริมน้ำทางฝั่งตะวันออกเป็นเมืองสร้างทีหลัง หลังเมืองกำแพงเพชรออกไปทางตะวันออกที่มีวัดสร้างไว้มากนั้นเป็นที่อรัญญิก มิใช่เมือง

เรื่องวัดข้างในเมืองกำแพงเพชร ภายหลังมาได้ถางตรวจดูทั้งหมดเห็นแปลกประหลาดกว่าที่อื่นคือมีที่เป็นบริเวณวัดอยู่ ๒ บริเวณ แต่ในบริเวณเดียวกัน สร้างวัดเป็นหลายวัด ต่อมามีโบสถ์วิหารและพระสถูปเจดีย์อยู่ติดๆ กันไป ไม่เห็นมีที่ไหนเหมือน ตรวจค้นหาเหตุที่สร้างวัดอย่างนี้อยู่ช้านานจึงคิดเห็นว่าวัดที่สร้างในสมัยครั้งสุโขทัยและตอนต้นสมัยอยุธยาโดยมากสร้างเป็นอย่างอนุสาวรีย์ ไม่มีพระสงฆ์อยู่เหมือนอย่างวัดในสมัยชั้นหลัง ที่สร้างโบสถ์หลายโบสถ์ไว้ในบริเวณเดียวกัน เห็นจะเป็นแต่ให้พระสงฆ์บวชนาคได้ในวัดซึ่งสร้างเป็นอนุสาวรีย์นั้น อนึ่ง สังเกตดูวัดที่สร้างในเมืองกำแพงเพชร สันนิษฐานว่าจะเป็นของสร้างชันหลังด้วยฝีมือเลวกว่าวัดซึ่งสร้างไว้ในอรัญญิกข้างเมืองออกไป

พระมหาธาตุที่ในศิลาจารึกว่า พญาฤไทยราชสร้างนั้นภายหลังสอบได้ความแน่ ว่าอยู่ที่เมืองนครชุมฝั่งตะวันตกที่ปากคลองสวนหมาก เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ แต่เศรษฐีกะเหรี่ยงคนหนึ่งปฏิสังขรณ์แปลงรูปไปเป็นพระเจดีย์พม่าเสีย

สอบศิลาจารึกได้ความว่า พญาฤไทยราชที่เป็นพระมหาธาตุที่เมืองนครชุมเมื่อเสวยราชย์แล้วเป็นพระองค์เดียวกัน

ชื่อเมืองกำแพงเพชรนี้สังเกตดูชอบกล ในบรรดาศิลาจารึกครั้งสุโขทัยมิได้กล่าวถึงเลย มีออกชื่ออยู่ในศิลาจารึกแผ่น ๑ ก็เรียกว่าเมืองนครชุม คือ เมืองที่อยู่ที่ฝั่งตะวันตก แต่หนังสือโบราณทางเชียงใหม่ก็ดี ทางกรุงศรีอยุธยา เช่น ในกฎหมายลักษณะพกพาซึ่งตั้งแต่ในรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง ก็ดี เรียกว่าเมืองกำแพงเพชรทั้งนั้น แต่เป็นเมืองลูกหลวงดังทรงพระราชดำริเป็นแน่ มีเมืองเช่นเดียวกันทั้ง ๔ ทิศเมืองสุโขทัย คือเมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) อยู่ทิศเหนือเมืองสองแคว (พิษณุโลก) อยู่ทิศตะวันออก เมือง สระหลวง (พิจิตร) อยู่ทิศใต้ เมืองกำแพงเพชรอยู่ทิศตะวันตก…

ในพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร ของพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ปรากฏเรื่องราวของกำแพงเพชร ซึ่งมีความโดยย่อว่า

…นายชิด มหาดเล็กวรเดช เดิมรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ลาป่วย ได้ขึ้นมารักษาตัวที่บ้านภรรยาเมืองกำแพงเพชรในปีนั้น ได้ทูลเกล้าฯถวายตำนานพระกำแพงทุ่งเศรษฐี เป็นจารึกบนแผ่นลานทอง แด่รัชกาลที่ ๕ นายชิดกล่าวว่า แผ่นลานทอง ไม่พบในกรุวัดพระบรมธาตุ ขุดได้เฉพาะในบริเวณทุ่งเศรษฐีเท่านั้น การพบกรุพระครั้งแรกที่วัดพระบรมธาตุนครชุม ในปี พ.ศ. ๒๓๙๒ แล้ว พระเจดีย์ทั้ง ๓ องค์ ได้ถูกซ่อมขึ้นรวมเป็นองค์เดียวกันโดยชาวพม่า ชื่อพญาตะก่า แต่ไม่แล้วเสร็จ เศรษฐีป่าไม้ชาวพม่าชื่อ พะโป๊ะ ได้บูรณะต่อมาจนเสร็จบริบูรณ์ แล้วสั่งยอดฉัตรจากประเทศพม่ามาประดับยอดพระบรมธาตุ ในปัจจุบันพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้มีรูปแบบศิลปะพม่า นายชิด มหาดเล็ก ได้บันทึกไว้ว่า หลังจากพบพระพิมพ์ครั้งแรกที่เจดีย์วัดพระบรมธาตุแล้ว ต่อมาชาวบ้านได้ทำการขุดค้นเจดีย์น้อยใหญ่ในบริเวณลานทุ่งเศรษฐี ได้พระพิมพ์แบบต่างๆ จำนวนมาก พระพิพม์เมืองกำแพงเพชรนี้ก่อนชาวบ้านนิยมนับถือกันมาช้านานแล้วว่ามีอานุภาพมากผู้ใดมีไว้จะทำการใดก็มีความสำเร็จผลตามความปรารถนาทุกประการ รูปแบบพระพิมพ์เหล่านี้ มีผู้ได้พบแล้วมีอยู่ ๔ แบบคือ พระยืนอย่าง ๑ พระลีลาอย่าง ๑ พระนั่งอย่าง ๑ พระเกสรว่านอย่าง ๑ พระพิมพ์เหล่านี้เหมือนกับที่ชาวบ้านได้พบครั้งแรกในเจดีย์พระบรมธาตุทุกอย่าง นายชิดได้ทูลเกล้าฯถวายพระพิมพ์สกุลทุ่งเศรษฐีหลายแบบ พร้อมด้วยแม่พิมพ์พระและสำเนาตำนานจารึกแผ่นลานเงินของพระพิมพ์สกุลทุ่งเศรษฐีแด่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระพิมพ์กรุนี้รัชกาลที่ ๕ ได้นำออกแจกจ่ายแก่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการมหาดเล็กที่ติดตามเสด็จในครั้งนั้นโดยทั่วกัน)…

หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับเมืองกำแพงเพชรได้แก่ศิลาจารึกนครชุม กล่าวถึงการสร้างเมืองนครชุม โดยพระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งปรากฏความในศิลาจารึกว่า

…ศักราชที่ ๑๒๗๙ ปีระกา เดือนแปดออกห้าค่ำ วันศุกร์ หนไทยกัดเราบูรพผลคุณินักษัตรเมื่อยามวันสถาปนานั้น เป็นหกค่ำแล้ว พญาฤไทยราชผู้เป็นลูกพญาเลือไทย เป็นหลานแก่พญารามราชเมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยได้ราชาภิเษก อันฝูงท้าวพระยาทั้งหลายอันเป็นมิตรสหายอันมีในสี่ทิศนี้ แต่งกระยาดงวายของฝากหมากปลาไหว้ อันยัดยัญอภิเษกเป็นท้าวพระยา จึงขึ้นชื่อศรีสุรียพงษ์มหาธรรมราชาธิราช หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมนี้ ปีนั้นพระมหาธาตุนี้ใช่ธาตุอันสามานย์คือพระธาตุแท้จริงแล้เอาลุกแต่ลังกาทวีปพู้นมาดาย เอาทั้งพืชพระมหาโพธิอันพระพุทธเจ้าเราเสด็จอยู่ใต้ต้น และผจญพลขุนมาราธิราช ได้ปราบแก่สัพพัญญุตาญาณเป็นพระพุทธเจ้า มาปลูกเบื้องหลังพระมหาธาตุนี้ ผิผู้ใดได้ไหว้นพกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุและพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าไซร้มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นพตนพระเป็นเจ้าบ้าง…

อาจสรุปได้ว่า เมืองกำแพงเพชรปรากฏขึ้นในบริบททางประวัติศาสต์ก่อน พ.ศ. ๑๙๐๐ ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาขยายอำนาจขึ้นมาทางตอนเหนือ เมืองกำแพงเพชรได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพะงั่ว) โดยสุโขทัยยอมอ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แว่นแคว้นอยุธยาจึงผนวกเอาดินแดนของสุโขทัย อันรวมถึงกำแพงเพชร เข้าไว้ภายใต้พระราชอำนาจอย่างสมบูรณ์

พระเครื่องเมืองกำแพง

พระเครื่องที่พบบริเวณจังหวัดกำแพงเพชรนับเป็นพระเครื่องที่มีพุทธเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันแสดงให้เห็นถึงศิลปะเชิงช่าง ตลอดจนความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างสูง

พระเครื่องสกุลพระกำแพง มีตำนานปรากฏชัด ได้พบจารึกบนแผนลานเงินในกรุขณะรื้อพระเจดีย์องค์ใหญ่ของวัดพระบรมธาตุ เมืองนครชุมเหตุการณ์ที่ค้นพบพระเครื่องเป็นจำนวนมากนี้ มีบันทึกประวัติไว้ว่า เมื่อปีระกา จุลศักราช ๑๒๑๑ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๙๒) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ ได้ขึ้นมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชรได้อ่านศิลาจารึกอักษรไทยโบราณ มีอยู่วัดเสด็จฝั่งเมืองกำแพงเพชร ได้ความว่า

มีพระเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า อยู่ริมลำน้ำปิงฝั่งตะวันตก ๓ องค์ ชำรุดทั้งหมด พระยากำแพงเพชร (น้อย) เป็นเจ้าเมืองในขณะนั้น ได้ทำการค้นหาจนพบพระเจดีย์ทั้ง ๓ องค์ตามที่ปรากฏในศิลาจารึก พระเจดีย์องค์กลางใหญ่สุดซึ่งบรรจุพระบรมธาตุ ขณะรื้อพระเจดีย์ทั้ง ๓ องค์นั้น ได้พบกรุพระพิมพ์สกุลทุ่งเศรษฐีแบบต่างๆ จำนวนมาก ภายในกรุพบแผ่นลานเงินจารึกภาษาขอมกล่าวถึงตำนานการสร้างพระพิมพ์และวิธีการสักการบูชาพร้อมลำดับอุปเท่ห์ไว้ พระพิมพ์ที่ได้จากกรุนี้คือ พระกำแพงพลูจีบ พระกำแพงเม็ดขนุน พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเปิดโลก (เม็ดทองหลาง) พระเกษรว่านหน้าเงินหน้าทอง พระเม็ดน้อยหน่า พระนางกำแพง ฯลฯ

ตำนานจารึกบนแผ่นลานเงิน ได้คัดจากสำเนาเดิมดังนี้

…ณ ตำบลเมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัย เมืองพิจิตร เมืองสุพรรณ ว่ามีฤาษี ๑๑ ตน ฤาษีเป็นใหญ่ ๓ ตน ฤาษีพิลาลัยตนหนึ่ง ฤาษีตาไฟตนหนึ่ง ฤาษีตาวัวตนหนึ่ง เป็นประธานแก่ฤาษีทั้งหลาย จึงปรึกษากันว่า เราทั้งนี้จะเอาอันใดให้แก่พระยาศรีธรรมาโศกราช ฤาษีทั้ง ๓ จึงปรึกษาแก่ฤาษีทั้งปวงว่า เราจะทำด้วยฤทธิ์ ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทองไว้ฉะนี้ ฉลองพระองค์จึงทำเป็นเมฆพัตรอุทุมพร เป็นมฤตย์พิศม์ อายุวัฒนะ พระฤาษีประดิษฐานไว้ในถ้ำเหวใหญ่น้อย เป็นอานุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลาย สมณชีพราหมณาจารย์ไปถ้วน ๕๐๐๐ พรรษา พระฤาษีตนหนึ่งจึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่า ท่านจงไปเอาว่านทั้งหลายอันมีฤทธิ์เอามาให้ได้ ๑๐๐๐ เก็บเอาเกษรดอกไม้อันวิเศษที่มีกฤษณาเป็นอาทิให้ได้สัก ๑๐๐๐ ครั้นเสร็จแล้วฤาษีจึงป่าวร้องเทวดาทั้งปวงให้มาช่วยบดยา ทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่งทำเป็นเมฆพัดรสถานหนึ่ง ฤาษีทั้ง ๓ ตนนั้น จึงบังคับฤาษีทั้งปวงให้เอาว่านทำเป็นผงปั้นเป็นก้อนถ้าผู้ใดได้ถวายพระพรแล้ว จึงเอาไว้ใช้ตามอนุภาพเถิด ให้ระลึกถึงพระฤาษีที่ทำไว้นั้นเถิด…

พุทธประติมากรรมที่เรียกกันว่าพระเครื่องมีอยู่มากมายหลายกรุ เช่น กรุวัดบรมธาตุจะพบพระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ พระกำแพงลีลาเม็ดขนุนพระกำแพงลีลาพลูจีบ พระนางกำแพงใบพุทรา พระนางกำแพงเล็บมือ พระกำแพงลีลาเชยคางข้างเม็ดทั้งเนื้อดินและเนื้อชิน พระกำแพงลีลาทุ่งขาว พระลีลากำแพงขาว เนื้อชิน พระกำแพงงบน้ำอ้อย พระยอดขุนพล (เสมาตัด) พระกำแพงลีลาฝักดาบ พระสังกัจจาย พระนางกำแพงพิมพ์ห้าเหลี่ยม พระกำแพงห้าร้อยเนื้อชิน พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงขาโต๊ะ

ส่วนกรุวัดพิกุล ก็จะพบพระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์ขนมเปี๊ยะ พระกำแพพงลีลาเม็ดขนุน พระกำแพงลีลาพลูจีบ พระนางกำแพงเม็ดมะลื่น พระกำแพงเปิดโลกยืนตอ (เม็ดทองหลาง) พระนางกำแพงใบพุทรา พระกำแพงลีลาเชยคางข้างเม็ด พระกำแพงงบน้ำอ้อย พระกำแพงลีลาฝักดาบ พระสังกัจจาย พระกำแพงซุ้มกอ

ทางด้านกรุฤาษีจะพบพระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พระกำแพงลีลาเม็ดขนุน พระกำแพงเปิดโลกยืนตอ (เม็ดทองหลาง) ที่วัดซุ้มกอจะพบพระกำแพงซุ้มกอพิมพ์กลาง พิมพ์ขนมเปี๊ยะพระกำแพงลีลาเม็ดขนุน นอกจากนี้พระกำแพงซุ้มกอยังพบที่กรุตาพุ่ม กรุนาตาคำ วัดลานดอกไม้ วัดหนองลังกา กรุเจดีย์กลางทุ่งอีกด้วย

ส่วนพระกำแพงอื่นๆ มักจะพบกระจายอยู่ทั่วไป เช่น พระกำแพงลีลาเม็ดขนุนหน้าเงินหน้าทองจะพบที่วัดป่ามืด พระกำแพงลีลาพลูจีบหน้าเงินหน้าทอง จะพบที่วัดพระแก้ว พระกำแพงลีลากลีบจำปา จะพบทีวัดวังพระธาตุ กรุทำเสากระโดง พระกำแพงลีลาปากเป็ด จะพบที่กรุฤาษี เจดีย์กลางทุ่งพระกำแพงลีลาหน้าเงินหน้าทอง จะพบที่วัดพระบรมธาตุ วัดอาวาสน้อย พระนางกำแพงพิมพ์ลูกแป้งเดี่ยว-ลูกแป้งคู่ พบที่กรุตาลดำ กรุผู้ใหญ่เชื้อพระกำแพพงท่ามะปรางค์ พบที่วัดช้างรอบ วัดป่ามืด วัดอาวาสใหญ่ วัดอาวาสน้อย วัดเชิงหวาย พระกำแพงลีลากล้วยปิ้ง พบที่กรุผู้ใหญ่เชื้อ พระกำแพงเม็ดมะเคล็ด พบที่กรุวัดช้างรอบ พระกำแพงขาโต๊ะ พบที่วัดสี่อิริยาบถ วัดอาวาสใหญ่ วัดอาวาสน้อย วัดช้างเป็นต้น

สำหรับพระเครื่องกำแพงเพชรที่นิยมอย่างสูงมักจะพบบริเวณกรุวัดบรมธาตุ กรุวัดพิกุล กรุวัดทุ่งเศรษฐี กรุวัดซุ้มกอ ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง อันเป็นที่ตั้งเมืองนครชุมเก่า หรือบริเวณที่เรียกว่าลานทุ่งเศรษฐี เกือบทั้งสิ้น