พระนางพญา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก

พระเบญจภาคี

ในปี พ.ศ. 2091 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ กองทัพพม่าซึ่งมีกำลังไพร่พลมากกว่าได้ขยายอาณาเขตเข้าตีเมืองมอญ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับแดนไทย ไว้เป็นที่มั่น แล้วสั่งเกณฑ์กองทัพมาตั้งประชุมพลที่เมืองเมาะตะมะ พระเจ้าหงสาวดีได้ เสด็จเป็นจอมทัพยกเข้ามารุกรานเมืองไทย หมายเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้น

ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อทราบข่าวว่ากองทัพพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาประชิดกรุง เสด็จยกทัพหลวงออกไปหวังจะลองกำลังข้าศึกดูว่าจะหนักเขาสักเท่าใด โดยทรงพระคชาธาร สมเด็จพระสุริโยทัย พระอัครมเหสี ได้แต่งองค์เป็นชายอย่างพระมหาอุปราช ทรงคชาสาร ตามเสด็จไปพร้อมด้วยพระราเมศวรและพระมหินทร์ ราชโอรสทั้งสอง

กองทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยกออกไปปะทะกับกองทัพพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นทัพหน้าของพระเจ้าหงสาวดี ไพร่พลทั้งสองกองทัพเข้ารบพุ่งกันเป็นสามารถ

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าแปรต่างทรงช้างขับไพร่พล หนุนมาพบกันเข้าก็ชนช้างกันตามแบบการยุทธในสมัยนั้น ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียทีแล่นหนีช้างข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่พระเจ้าแปรขับช้างไล่มา สมเด็จพระสุริโยทัยเกรงพระราชสวามีจะเป็นอันตราย จึงขับช้างทรงเข้าขวางทางข้าศึกเอาไว้ พระเจ้าแปรได้ทีฟันสมเด็จพระสุริโยทัย ด้วยสำคัญว่าเป็นชาย สิ้นพระชนม์ซบลงกับคอช้าง พอพระราเมศวรกับพระมหินทร์ทั้งสองพระองค์ขับช้างทรงเข้าต่อสู้ พระเจ้าแปรก็ถอย จึงกันเอาพระศพสมเด็จพระชนนีกลับ

การรบพุ่งในวันนั้นเป็นอันยุติไม่รู้แพ้รู้ชนะกันแม้ว่าสมเด็จพระสุริโยทัยจักสิ้นพระชนม์

พระศพสมเด็จพระสุริโยทัยได้อันเชิญไปประดิษฐานไว้ที่สวนหลวง ตรงที่สร้างวังหลังต่อมาได้สร้างพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยที่ในสวนหลวง ตรงกับเขตวัดสบสวรรค์ และได้สร้างพระอารามขึ้นตรงพระเมรุกับได้สร้างพระมหาเจดีย์เป็นอนุสรณ์ถึงวีรกรรมของพระองค์ท่านผู้มีทั้งพระทัยกล้าหาญมั่นคงเด็ดเดี่ยว ให้อนุชนรุ่นหลังได้จดจำกันสืบต่อมา

การศึกในครั้งนั้น กองทัพของพระเจ้าหงสาวดี แม้จะมีรี้พลมากกว่าก็ไม่สามารถที่จะรบพุ่งหักหาญให้กรุงศรีอยุธยาแตกหักลงได้ เพียงแต่ล้อมเมืองเอาไว้เฉย ๆ อยู่ไปนานเข้าเสบียงอาหารร่อยหรอลง รี้พลก็ระส่ำระสาย ประกอบกับขณะนั้นกำลังรบทางหัวเมืองฝ่ายเหนืออันเป็นมณฑลราชธานีครั้งสมเด็จพระร่วงเจ้า ยังมีกำลังมาก อีกทั้งพระมหาธรรมราชา ซึ่งเป็นอุปราชครองหัวเมืองเหนือทั้งปวงอยู่ที่เมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้มีใบบอกให้ยกกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ ลงมาช่วยตีกระหนาบ

ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีพอได้ข่าวกองทัพไทยในฝ่ายเหนือยกลงมาก็ตกพระทัย ยกทัพกลับไปทางด่านเจดีย์สามองค์

ปี พ.ศ. 2106 พระมหาธรรมราชา ผู้ครองเมืองพิษณุโลก ได้อภิเษกเป็นพระศรีสรรเพชญ หรือ เจ้าฟ้าสองแคว ทรงอภิเษกสมรสกับพระวิสุทธิกษัตริย์พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระสุริโยทัย ผู้ซึ่งมีเลือดเนื้อเชื้อไขเป็นนักรบอย่างแท้จริง ยอดวีรกษัตรีนั่นเอง มีพระโอรส 2 องค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้กอบกู้ชาติไทยให้หลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น กับสมเด็จพระเอกาทศรถและพระธิดาอีก 1 องค์ คือ พระสุพรรณกัลยา

พระมหาธรรมราชาทรงครองหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองพิษณุโลกสืบต่อมาเป็นเวลานานพระองค์ทรงทะนุบำรุงเมือง ตลอดจนการพระศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า วัดใหญ่ อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช เป็นพุทธสถานที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นวัดที่พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจตลอดมาก คงจะเป็นเช่นเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบันนี้

ส่วนพระวิสุทธิกษัตริย์ พระชายา ทรงทะนุบำรุงและปฏิสังขรณ์วัดนางพญา ซึ่งเป็นวัดเคียงข้างกับวัดใหญ่เพียงถนนกั้นกลางเท่านั้น เหตุที่วัดนี้มีชื่อว่าวัดนางพญานั้นมีเหตุผลอยู่สองประการด้วยกันคือ พระวิสุทธิกษัตริย์สร้างถวายเป็นพุทธบูชาอุทิศแด่พระมารดา คือสมเด็จพระสุริโยทัย หรือเรียกชื่อตามตำแหน่งแห่งผู้สร้างคือ พระวิสุทธิกษัตริย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ ที่วัดแห่งนี้ได้ขุดพบพระพิมพ์เนื้อดินประทับปางมารวิชัย อยู่ในรูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วอย่างทรงเรขาคณิตหลายพิมพ์ทรงด้วยกันและมีจำนวนมาก เข้าใจว่าคงจะมีจำนวนถึง 84000 องค์ ครบถ้วนตามจำนวนพระธรรมขันธ์ ซึ่งเป็นคตินิยมของท่านโบราณาจารย์ที่ต้องสร้างให้ได้จำนวนเท่านั้น เรื่องจำนวนการสร้างคงจะไม่เป็นปัญหา แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อท่านผู้สร้างเป็นถึงนางพญามหากษัตริย์ ย่อมจักมีอยู่แล้วพร้อมสรรพทั้งแรงคนและแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระนางพญาเป็นพระเนื้อดินธรรมดา ๆ นี่เอง เรื่องวัสดุจึงหาได้ง่าย มีอยู่ทั่วไป เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยและได้ผ่านพิธีกรรมพุทธาภิเษกจงดีแล้วจึงได้บรรจุในพระมหาเจดีย์ที่วัดนางพญา เป็นพุทธบูชาและเป็นการสืบพระพุทธศานาตามคตินิยมมาแต่โบราณกาล

แต่เดิมนั้นพระมหาเจดีย์อันเป็นที่บรรจุพระนางพญาจักมีจำนวนกี่องค์นั้นไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน แต่คิดว่าคงจักมีจำนวนมากด้วยกันหรืออย่างน้อยก็ 4 องค์ สร้างไว้ประจำ 4 ทิศ เมื่อกาลเวลาได้ล่วงเลยไปแล้วหลายร้อยปี พระมหาเจดีย์องค์อื่นๆ ได้ปรักหักพังลงตามสภาพอันไม่คงทนปรากฏว่า พระนางพญาที่บรรจุเอาไว้ได้แตกออกมาจากกรุตกเรี่ยราดอยู่ตามพื้นดินและถูกน้ำฝนชะหลากไหลไปกับกระแสน้ำ แต่ก็คงจักอยู่ภายในบริเวณวัด เมื่อก่อนได้มีการขุดค้นพบกันอยู่บ่อยๆ ปัจจุบันทางวัดได้เทคอนกรีตทับที่เสียแล้ว ถ้าพระนางพญายังคงตกหล่นและฝังดินอยู่แล้วนั้นก็คงเป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไป จะอย่างไรก็ดี ขณะนี้พระมหาเจดีย์ยังคงสภาพเดิมอยู่องค์หนึ่งที่ทางวัดได้ทะนุบำรุงรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี และจากสภาพของเจดีย์แบบลังกาอันเป็นที่บรรจุพระนางพญานั้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระนางพญาสร้างในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระวิสุทธิกษัตริย์ ผู้ครองเมืองสองแคว เป็นไปได้อย่างสนิทใจ

พระนางพญาเป็นพระพุทธปฏิมากรรมขนาดเล็กเป็นรูปสามเหลี่ยม สร้างจากดินนำมาเผาให้สุกเสร็จแล้วบรรจุไว้ในกรุเจดีย์ด้านหลังโบสถ์วัดนางพญาจังหวัดพิษณุโลก วัดนางพญาเป็นวัดที่ค่อนข้างเล็กมาก อยู่ตรงข้ามกับวัดพระศรีมหาธาตุ หรือวัดใหญ่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับวัดนางพญานั้นถึงแม้ว่าจะเป็นวัดที่ค่อนข้างเล็กแต่ชื่อเสียง และความศักดิ์สิทธิ์ของวัดนางพญาเป็นที่เลื่องลือและเคารพนับถืบของคนไทยทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นสถานที่ซึ่ค้นพบพระเครื่องที่นับเนื่องอยู่ในพระชุดเบญจภาคีได้แก่พระนางพญา

หากพูดถึงพระผงรูปสี่เหลี่ยมจะกลายเป็นเอกลักษณ์ของพระสมเด็จถึงแม้ว่าพระผงรูปสี่เหลี่ยมบางองค์เราจะไม่เรียกว่าเป็นพระสมเด็จ เช่น พระผงพิมพ์หลังอุ ของท่านเจ้าคุณนรฯ แต่เนื่องจากมีเอกลักษณ์เหมือนพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ผู้คนจึงเรียกพระผงพิมพ์หลังอุเป็นพระสมเด็จหลังของท่านเจ้าคุณนรฯ พระผงที่จะเรียกชื่อเป็นพระสมเด็จนั้นจริงๆแล้วท่านเจ้าประคุณผู้สร้างพระจะต้องมีสมณศักดิ์เป็นชั้นสมเด็จ เช่น พระสมเด็จอรหัง เป็นต้น

มาพูดกันถึงพระรูปสามเหลี่ยมจะนึกถึงพระนางพญาซึ่งมีรูปทรงสัณฐานเป็นสามเหลี่ยมนอกจากพระนางพญา วัดนางพญาแล้ว พระเครื่องที่มีเอกลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยมมักจะถูกเรียกนำหน้าเป็นพระนางพญา เช่น พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ พระนางพญากรุโรงทอ พระนางพญากำแพงเพชร พระนางพญาวัดโพธิ์ เป็นต้น

พระนางพญาเป็นพระที่อยู่ในกรุเจดีย์วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก และเจดีย์วัดราชบูรณะซึ่งเดิมเป็นอาณาบริเวณ เดียวกันกับวัดนางพญาภายหลังเจดีย์ได้ชำรุดและหักล้มลง จึงปรากฏพระนางพญากระจัดกระจายอยู่เต็มวัดนางพญา บรรดาเด็กวัดได้นำองค์พระนางพญามาเล่นทอยแก่นกันภิกษุรูปหนึ่งเห็นเป็นการไม่ควร จึงรวบรวมเก็บพระนางพญาแล้วบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นเจดีย์อยู่ริมถนนหน้าวัดนางพญา ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับพระนางพญา ในการเสด็จประพาสต้นหัวเมืองฝ่ายเหนือของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นไปยังจังหวัดพิษณุโลก พระราชประสงค์ของพระองค์เพื่อเป็นการสืบทอดพระศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราชได้นำพระนางพญาลงมากรุงเทพฯ พระนางพญาบางส่วนได้มีการบรรจุไว้ในเจดีย์วัดอินทรวิหาร โดยใส่ไว้ในบาตรพระภายหลังได้ขุดกรุเจดีย์พบพระนางพญาในบาตรพระ ดังกล่าวจะมีสนิมเหล็กของบาตรพระเคลือบอยู่บนผิวพระนางพญา

พระนางพญาบางส่วนก็ได้มีการขุดค้นพบที่ได้ฐานพระประธานในโบสถ์วัดสังข์กระจาย มีคราบกรุจับอยู่บนผิวพระนางพญา ดูสวยงามมีเอกลักษณ์พิเศษ และพระนางพญาบางส่วนจะพบที่กรุวังหน้าในโรงละครแห่งชาติปัจจุบัน กรุนี้จะปรากฏมีการลงรักปิดทองไว้อย่างสวยงามมาก

พระนางพญา นอกจากจะพบตามที่ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังขุดพบบางส่วนในการวัดต่างๆ ในจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย แต่มิไม่มากนัก เจดีย์ละองค์สององค์ เก็บไว้ในผอบและประดิษฐานไว้บนยอดพระเจดีย์เป็นส่วนใหญ่ ในคราวที่พระประธานในโบสถ์วัดนางพญาซึ่งเป็นพระประธานปูนปั้นชำรุดทางวัดนางพญาได้ดำเนินการบูรณขึ้นใหม่ กะเทาะเอาปูนฉาบที่เสื่อมคุณภาพออก และฉาบปูนปั้นใหม่ลงรักปิดทองให้ดูสวยงามน่าเคารพกราบไหว้บูชา จนกระทั่งปัจจุบันนี้ช่างที่ซ่อมแซมองค์พระประธานได้ค้นพบตลับดินเผาประดิษฐานอยู่บนยอดพระเกศองค์พระประธาน ภายในบรรจุพระ 4 องค์ เป็นพระนางพญา พิมพ์เข่าตรง พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ พระนางพญา พิมพ์ทรงเทวดา และพระนางพญากรุโรงทอ ทั้ง 4 องค์ล้วนแล้วแต่เป็นพระทีมีพุทธลักษณะสวยงามเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยทั้งสิ้น

ประมาณปี พ.ศ. 2512-2515 ที่จังหวัดพิษณุโลกได้ขุดพบกรุพระนางพญาอีก 1 กรุ อยู่ห่างจากบริเวณวัดนางพญาไปประมาณ 4-5 กิโลเมตรเป็นกรุที่เปียกชื้นเรียกว่าเกือบจะแช่อยู่ในน้ำ เราเรียกพระนางพญากรุนี้ว่า พระนางพญา กรุน้ำ ผิวพระจะถูกน้ำกัดสีกร่อนและมีเม็ดกรวดทรายลอยอย่างเห็นได้ชัด พระบางองค์จะปรากฏคราบรารักติดอยู่เต็มองค์บ้าง บางองค์มีรารักติดอยู่เป็นจุดๆ บ้าง

ประมาณปี พ.ศ. 2530 หรือปีใกล้เคียงได้มีการขุดพบกรุพระนางพญาอีกกรุหนึ่ง เข้าใจว่าจะเป็นเจดีย์นอกวัดนางพญาที่สร้างติดกับถนนทางหลวงซึ่งมีข่าวโจษขานกันว่า หลวงตาที่วัดนางพญาได้เก็บพระนางพญาซึ่งตกเรี่ยราดอยู่ตามโคนพระเจดีย์นำไปบรรจุในพระเจดีย์ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ พระชุดนี้มีไม่มากนัก แต่จะเป็นพระที่ค่อนข้างสวยงามและสมบูรณ์มากมีพระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่ ที่ปรากฏหู ตา จมูกอย่างชัดเจน และมีข่าวว่ามีพระนางพญา พิมพ์เข่าโค้งที่ค้นพบในกรุนี้มีความสวยงามมากเป็นพิเศษ มีหู ตา จมูกชัดเจน เป็นแต่เพียงข่าวที่มีผู้คนไปพบเท่านั้นเจ้าของพระยังเก็บสงวนไว้ไม่ให้ใครได้ชมมากนัก

มีเพียงคำเล่าขานกันมาเท่านั้นว่าในครั้งแรกที่เจดีย์หลังโบสถ์พระประธานวัดนางพญาล้มลง ปรากฏพระนางพญากระจัดกระจายเต็มวัด ทางวัดนางพญาได้นำเอาเศษอิฐอันเป็นซากพระเจดีย์ที่ล้มอยู่บนพี้นวัดไปเทถมในสระน้ำกลางวัด เพื่อให้บริเวณวัดสะอาดเรียบร้อย และเป็นการถมสระน้ำให้เต็มให้บริเวณวัดกว้างขวางยิ่งขึ้น ภายหลังพื้นบริเวณวัดนางพญาได้เทปูนเป็นพื้นลานวัด พระนางพญาบางส่วนเข้าใจว่าได้ฝั่งอยู่บริเวณลานวัดยังไม่เคยขุดค้นขึ้นมา อีกเลย

ในปัจจุบันเท่าที่มีการจัดมาตรฐาน อาจแบ่งพระนางพญาออกทั้งหมด 7 พิมพ์ คือ

1.พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง

2.พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง

3.พระนางพญา พิมพ์เข่าตรงมือตกเข่า

4.พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ

5.พระนางพญา พิมพ์อกนูนเล็ก

6.พระนางพญาพิมพ์สังฆาฏิ

7.พระนางพญา พิมพ์ทรงเทวดา หรือ พระนางพญา พิมพ์อกแฟบ