พระผงสุพรรณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี

พระเบญจภาคี

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นต้นกำเนิดของพระเครื่องหนึ่งใน เบญจภาคี อันลือลั่นนั้นตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอารามเก่าแก่ปรากฏพระปรางค์ องค์ประธานตั้งโดดเด่นเป็นสง่า พระอารามแห่งนี้ถูกทอดทิ้งรกร้างอยู่เป็นเวลานานประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๖ มีชาวจีนเข้าไปหักร้างถางพงทำสวนผักในบริเวณวัด และทำการขุดองค์พระปรางค์ประธาน พบแก้วแหวนเงินทองสมัยโบราณจำนวนมาก จนข่าวกรุแตกกระจายไป ลุงเจิม อร่ามเรืองนักขุดพระชื่อดังในสมัยนั้น ได้ดำเนินการขุดต่อ พบพระผงสุพรรณ พระกำแพงศอก พระมเหศวร พระสุพรรณยอดโถ พระสุพรรณหลังผาน ตลอดจนพระเนื้อชินต่างๆ รวมทั้งแผ่นจารึกลานทองหลายแผ่นซึ่งลุงเจิมได้ทำการหลอมขายจนหมด

ข่าวการลักลอบขุดกรุทราบถึงคณะกรรมการเมืองพระยาสุนทรบุรี (อี้ กรรณสูต) เจ้าเมืองสุพรรณบุรีเห็นว่าปล่อยทิ้งไว้ราษฎรคงจะแห่กันไปสร้างความเสียหายต่อสมบัติของชาติ จึงได้เชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสนพระทัยทางโบราณคดี และกำลังค้นหาที่ตั้งของเจดีย์ยุทธหัตถีในเขตเมืองสุพรรณบุรีอยู่ เป็นองค์ประธานเปิดกรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. ๒๔๕๖

ซึ่งเรื่องราวของการเปิดกรุเป็นทางการในครั้งนั้น ปรากฏในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งกล่าวถึงการค้นพบเจดีย์ยุทธหัตถีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และการถวายพระผงสุพรรณ พระกำแพงศอก และพระพิมพ์ต่างๆ ดีพระองค์ดังความว่า

…เมื่อทรงสักการบูชาพระเจดีย์แล้ว (พระเจดีย์ยุทธหัตถี) พระยาสุนทรสงคราม (อี้ กรรณสูต บรรดาศักดิ์ก่อนเป็นพระยาสุนทรบุรี) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นำสิ่งของโบราณต่างๆ ทูลเกล้าถวาย สิ่งของซึ่งพบที่ดอนเจดีย์เมื่อฉาบดินและแผ้วถางทางรับเสด็จคราวนี้ คือยอดธงชัย เป็นรูปวชิระทำด้วยทองสัมฤทธิ์ยอด ๑ …นอกจากสิ่งของที่ได้ที่ดอนเจดีย์ พระยาสุนทรสงครามได้นำพระเครื่องซึ่งพบในกรุที่วัดพระธาตุเมืองสุพรรณบุรี เมื่อจวนจะเสด็จคราวนี้ ทูลเกล้าถวายเป็นพระพุทธลีลาหล่อพิมพ์ด้วยโลหะธาตุอย่างหนึ่ง พระพุทธรูปมารวิชัย พิมพ์ด้วยดินเผาอย่าง ๑ อย่างละหลายร้อยองค์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแจกแก่เสือป่า ลูกเสือ ทหาร และตำรวจ บรรดาที่โดยเสด็จครั้งนี้โดยทั่วกัน…

ในการเปิดกรุครั้งนี้ ได้พบพระพิมพ์ต่างๆ เป็นจำนวนมากและได้พบแผ่นจารึกลานทองภาษาขอม ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลไว้ กล่าวถึงการสถาปนาพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ โดยกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา และได้รับการปฏิสังขรณ์โดยพระราชโอรสซึ่งมีข้อความคล้ายคลึงกับแผ่นลานทองซึ่งพบที่ยอดนพศูลองค์พระปรางค์ ซึ่งแปลโดยนายฉ่ำ ทองคำวรรณ

จารึกลานทองพบบนยอดนพศูลองค์พระปรางค์ แปลโดยนายฉ่ำ ทองคำวรรณ

……..สิทฺธิ รสฺตโย
โยชฺ ฌราชปรโมรุ จกฺก
วตฺตีติ นาม วิทิโต
อิมเมตฺถ ถูปํ
การาปยํ ฐปยิ มา
รชิธาตุยนฺโต
อสฺสาปิ กาลวิกโล
อยมาสิถูโปฯ

……..ตสฺโส รส สกลภู
ตลราชราโช
ราชาธิราชปวโร ปุน
การยาโน
ถูปํ ปุราธิกตร
อิม มสฺส จนฺโต
คพฺเภ ฐเปติ มุนิโน
วรธาตุ เยมาฯ

………ถูเป ปสนฺโน
วรราช ราชา
เหมาทิปูชา
หิภิปูชิเยต
ปุญฺเญนเมเต
น อนาคตฺ เตหํ
พุทฺโธ ภเวยฺ ยน
ติ วรงฺกโรติ ฯ

คำแปล
พระราชาผู้ยิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายในอโยธยา ทรงพระนามว่า จักรพรรดิ โปรดให้สร้างสถูปองค์นี้ไว้ และทรงบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ภายใน แต่พระสถูปของพระองค์ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พระโอรสของพระองค์ผู้เป็นพระราชาเหนือพระราชาทั้งหลาย ในพื้นแผ่นดินทั้งมวลและเป็นราชาธิราชผู้ประเสริฐ โปรดให้ปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนดี และทรงบรรจุพระวรธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ในพระสถูปนั้น พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระสถูปจึงทรงบูชาด้วยเครื่องบูชา มีทองเป็นต้นแล้วตั้งความปรารถนาว่า ด้วยบุญกรรมแห่งข้าฯ นั้น ขอให้ข้าฯ พึงเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเทอญ

สำเนาที่ได้จากจารึกลานทองพบที่พระปรางค์ประธาน คัดจากอาจารย์ช้อย วัดประยุรวงศาวาส ซึ่งคัดมาจากสำเนาของอาจารย์กลั่น วัดจักรวรรดิราชาวาส ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปล

ศุภมัสดุ ๑๒๕๖ ศุกรนักษัตร บมิเกตปุสยพฤหัสปฎิวาร ศุภบุปัตติ ประพรประสิทธิเจ้ารัตนมรสิ ศรีไตรโลกย์ นามกรอยู่ รัตนตรัย รัตนนาม

ศุภมัสดุ ๑๒๖๙ ศกเถาะนักษัตร นัยเนต พระราชปันทหาร มานบันทูลพระราชโองการสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีจักรพรรดิราช พระราเมศวรราชสุจริตศรัทธาอนุดมทนานุพุทธฎีกา สมเด็จพระครูทเธา ศรีสังฆนายกดิลกรัตนมหาสวามิ บรมราชาจารย์ พระพรประสิทธิ มหาเถรปิยทัสสี ศรีสารีบุตร นามกร

สิทฺธิรสตุโย โยชฺ ฌราชปร โมรุ จกฺกวตฺ ตีติ นามวิทิโต อิมเมตฺถ ถูปํ การาปนยธ ฐปยิ มารชิธาตุยนฺโต อสฺสาปิ กาลวิกโล อยมาสิถูโป
ตสฺโส รส สกลภู ตลราชราโช ราชาธิราชปวตา ปุน การยาโน ถู ปํ ปูราธกรตรํ อิม มสฺส จนฺโตสตฺเภว เปติมุนิโนวรธาตุ
เยมาถูเปปสนฺโน วรราชราชา เหมาทิปูชาหิภิปูชิเยตํ ปญฺเญนเมตน อนาคเตหํ พุทฺโธภเวย ยนฺติ วรํกโรติฯ
ขอสำเร็จแก่ความปรารถนาเถิด สมเด็จพระราชาเจ้าองค์ใด ทรงพระนามว่า พระบรมมหาจักรพรรดิเจ้า เป็นบรมกษัตริย์ครองกรุงอโยชฌราช ได้ก่อพระสถูปนี้บรรจุพระมาระธิธาตุภายในไว้ที่นี้ พระสถูปของพระธาตุนี้ได้วิกลแล้วตามกาลสมเด็จพระโอรสของพระบรมราชมหาจักรพรรดินั้น ได้สนององค์พระราชบิดา เป็นพระเจ้าราชาธิราชตลอดภูมิมณฑล

พระยาสกลราชได้ให้ก่อพระสถูปเก่าคร่ำคร่าขึ้นใหม่ แล้วบรรจุพระบรมธาตุของสมเด็จพระมุนีเจ้าไว้ในกรุในพระสถูปนี้อีก

พระวรราชราชาเจ้าได้ทรงเลื่อมใสในพระสถูปนี้ ให้บูชาพระสถูปด้วยอภิบูชาสักการมีเหมเป็นอาทิ ด้วยผลบุญสถูปบูชา ขอให้เราได้สำเร็จแก่พระสร้อยสรรเพชรุดาญาณในอนาคตกาลนั้นเถิดฯ

สำหรับสำเนาจารึในแผ่นที่ ๑ และ ๒ ข้อความตรงกับลานทองที่กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ในพิพิธฑสถานแห่งชาติ ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการแปลใหม่ ตีพิมพ์ลงในหนังสือจารึกประเทศไทย เล่ม ๕ เรียกว่า จารึกเจ้ารัตนโมลีศรีไตรโลกษ์ ปรากฏข้อความและศักราชผิดแปลกไปจากเดิมโดยฉบับแปลของกรมศิลปากรมีความดังนี้

ศุภมัสดุ ๑๓๖๕ ศกกุรนักษัตร ษัษฐีเกดวฤหัสปติวาร ศุภมหูรดี พระวรประสิทธิเจ้า รตนโมลีศรีไตรโลกย นามกรอวยเจ้า นิตรยรตนนา
จะเห็นได้ว่าตัวเลขศักราชต่างกัน ๑๐๐ ปี

ศุภมัสดุ ๑-๕ ศกเถาะนักษัตรปิยเกดมานนันทูลพระราชโองการเสด็จบรมราชาธิบดีศรีมหาจักรพรรดิราชนุ พระราเมศวร สุจริต ศรัทธา อนุโมทนานุ พุทธฎีกา เสด็จพระครูจุฑามณีศรี สังฆราชนายกดิลก รัตนมหาสวามีบรมราชาจารย์พระพรประสิทธิ์พระมหาเถรปิยทัศศรี สาริบุตร นามกร อวยมหาเถรสาริบุตรนาม
คำแปลนี้คณะกรรมการอ่านจารึกระบุว่าหมาศักราช ๑๒๖๙ ไม่ตรงกับปีเถาะ และตัวเลขระหว่าง ๑-๕ อ่านไม่ได้ใจความจึงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นมหาศักราช ๑๓๕๗ ตรงกับ พ.ศ. ๑๙๗๘ ซึ่งตรงกับปีเถาะพอดี

ความสำคัญของจารึกลานทองที่พบจะทำให้ทราบได้ว่า พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี สร้างขึ้นและบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยใด อันจะนำไปสู่ข้อสันนิษฐานถึงผู้สร้างตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในการจัดสร้าง พระผงสุพรรณ อันลือลั่นของจังหวัดสุพรรณบุรี

ในกรณีนี้มีนักวิชาการตั้งข้อสมมุติฐานกันหลายท่าน หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์สันนิษฐานในชั้นแรกว่า สมเด็จพระนครินทราชา กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้สร้างและพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เจ้าสามพระยาพระราชโอรสเป็นผู้ปฏิสังขรณ์ ส่วนนายตรี อมาตยกุลและนายมนัส โอภากุล สันนิษฐานว่ากษัตริย์คู่นี้น่าจะเป็นท้าวอู่ทองผู้ครองเมืองสุพรรณบุรีเดิม (ไม่ใช่พระเจ้าอู่ทองที่สร้างกรุงศรีอยุธยา) และบูรณปฏิสังขรณ์โดยพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ขุนหลวงพระงั่ว นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการบางท่าน เช่น ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียรสันนิษฐานว่า พระบรมราชาธิราชที่ ๒ เจ้าสามพระยาเป็นผู้สร้างและสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นผู้ปฏิสังขรณ์ ซึ่งตรงกับความเห็นในชั้นหลังของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์

ในหนังสือสังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยอยุธยา ของนายจิตร ภูมิศักดิ์ ได้เสนอว่าพระบรมมหาจักรพรรดิเจ้า ที่ปรากฏพระนามในลานทองซึ่งพบบนยอดนพศูลได้แก่ พระราชบิดาของพระนครินทราชา ส่วนนายไชย เรืองศิลป์ เสนอไว้ในประวัติสังคมไทยสมัยโบราณก่อนศตวรรษ ๒๕ กษัตริย์คู่นี้ได้แก่พระเจ้าอู่ทองที่ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา และพระราเมศวร พระราชโอรส

ในจารึกลานทองที่ค้นพบกล่าวถึงการสร้างพระผงสุพรรณไว้ความว่า

…..ศุภมัสดุ ๑๒๖๕ สิทธิการิยะ แสดงบอกไว้ให้รู้ว่าฤาษีทั้งสี่ตนพระฤาษีพิมพิลาไลย์เป็นประธานเราจะทำด้วยฤทธิ์ทำด้วยเครื่องประดิษฐ์ มีสุวรรณเป็นต้น คือบรมกษัตริย์ พระยาศรีธรรมโศกราช เป็นผู้มีศรัทธา พระฤาษีทั้งสี่ตนจึงพร้อมกันนำเอาแต่ว่านทั้งหลาย พระฤาษีจึงอัญเชิญเทวดามาช่วยกันทำพิธีเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่งแดง สถานหนึ่งดำ ให้เอาว่านทำเป็นผงก้อน พิมพ์ด้วยลายมือของมหาเถระปิยะทัสสะสี ศรีสารีบุตร คือเป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น ได้เอาแร่ต่างๆ มีอนุภาพต่างกัน เสกด้วยมนต์คาถาครบ ๓ เดือน แล้วท่านให้เอาไปประดิษฐ์ไว้ในสถูปแห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม ถ้าผู้ใดพบเห็นให้รับเอาไปไว้สักการบูชาเป็นของวิเศษ แม้จะมีอันตรายประการใดก็ดี ให้อาราธนาผูกไว้ที่คอ อาจคุ้มครองภยันตรายได้ทั้งปวง เอาพระลงสรงน้ำมันหอม แล้ว นั่งบริกรรม พุทธคุณ สังฆคุณ ๑๐๘ จบ พาหุง ๑๓ จบ ใส่ขันสัมฤทธิ์ นั่งอธิษฐานเอาความปรารถนาเถิด ให้ทาทั้งหน้าและผม คอ หน้าอก ถ้าจะใช้ทางเมตตา ให้มีสง่า เจรจาให้คนทั้งหลายเชื่อฟังยำเกรง ให้เอาพระไว้ในน้ำมันหอมเสกด้วยคาถานวหรคุณ ๑๓ จบ พาหุง ๑๓ จบ พระพุทธคุณ ๑๓ จบ ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนทำพิธีในวันเสาร์น้ำมันหอมเก็บไว้ใช้ได้เสมอ ทาริมฝีปาก หน้าผากและผม ถ้าผู้ใดพบพระตามที่กล่าวมานี้ พระว่านก็ดีพระเกษรก็ดี ทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี อย่าประมาทเลย อานุภาพพระทั้ง ๓ อย่างนี้ดุจกำแพงแก้วกันอันตรายทั้งปวง แล้วให้ว่าคาถา ทเยสันตา จนจบ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนจบ พาหุง ไปจนจบแล้วให้ว่าดังนี้อีก กะเตสิกเก กะระฌังมหาไชยังมังคะ สังนะมะพะทะ แล้วให้ว่า กิริมิติ กุรุมุธุ เกเรเมเถ กระระทะทะ ประสิทธิแล……

พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตรมหาธาตุสุพรรณบุรี นับเป็นพระเครื่องเลื่องชื่อ ถูกบรรจุอยู่ในชุด เบญจภาคี แม้จะเป็นเนื้อดินเผาแต่สาเหตุที่เรียกว่า ผงสุพรรณ ก็เนื่องจากการค้นพบจารึกลานทองกล่าวถึงการสร้างจากผงว่านเกสรดอกไม้อันศักดิ์สิทธิ์ จึงได้รับการเรียกขานกันว่า ผงสุพรรณ เรื่อยมา โดยสามารถจำแนกออกได้เป็น ๓ พิมพ์ได้แก่

1.พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่

2.พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้ากลาง

3.พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่ม