พระรอด วัดมหาวัน จังหวัดลำพูน

พระเบญจภาคี

เมื่อพระนางจามเทวีเจ้าได้รับอัญเชิญให้เสด็จจากเมืองละโว้มาเสวยราชย์ ณ กรุงหริภุญไชยซึ่งพระฤาษีสี่ตนได้สร้างถวายขึ้นนั้น พระนางได้ทรงสถาปนาพระอารามประจำทวารทั้งสี่ของพระนครขึ้นเรียกว่า จตุรพุทธปราการ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระนคร ให้ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์มีความร่มเย็นผาสุขทั้งปกป้องโพยภัยจากอริราชศัตรูภายนอก และฤาษีทั้งสี่ก็ได้ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศล ต่างก็สร้างพระเครื่องของตนขึ้น และบรรจุไว้ในกรุของแต่ละพระอารามแห่งจตุรพุทธปราการเพื่อสืบอายุพระศาสนาและเพิ่มเกณฑ์ชะตาพระนคร จตุรพุทธปราการนี้ ในปัจจุบันชาวบ้านนิยมกันเป็นสามัญว่า วัดสี่มุมเมืองและบรรดาพระเครื่องสกุลลำพูนของฤาษีต่างก็มีกำเนิดขึ้น ณ กรุของพระอารามทั้งสี่นี้ ดังคัมภีร์จามเทวีวงศ์กล่าวความไว้ว่า

..เอวํ สา จินฺตยิตฺวาน ปาโต วุฎฐาย เสยฺยนา สิสนฺหาตา สุจิวตฺถา สพฺพาภรณภูสิตา
ปาตราสํ กริตฺวาน สีวิกายํ นิสีทิย มหนฺเตหิ ปริวาเรหิ กตฺวาน ปุรํ ปทกฺขิณํ
ปาจีนทิสโต ตสฺส กตฺวารณฺญิกรมฺมกํ วิหารํ การยิตฺวา สา พุทฺธรูปณจ การยิ ฯลฯ
.
ตโต จ อาพทฺธารามํ ตสฺส อุตฺตรทิสโต เอกํ วิหารํ กตฺวาน ลงฺการามสฺสทาสิ สา
.
ตโต มหาวนารามํ ตสฺส ปจฺฉิมทิสโต วิหารํ พุทธรูปญฺจ กาเรตฺวา กุฎิกวรํ
ตตฺถ สงฺเฆ วสาเปสิ อนฺนปาเนน ตปฺปยิ
.
ตโต มหารตฺตารามํ ทกฺขิณทิสโต วิหารํ พุทธรูปญฺจ กาเรตฺวา อติโสภณํ
ตตฺถ สงฺเฆ วสาเปสิ อนฺนปาเนน ภรติ
.
มหาวิหารา ปณฺเจเต จามเทวี สยํ กเตฯ…

…ครั้นพระนางได้ดำริอย่างนี้แล้ว ต่อเวลา เช้าก็ลุกจากที่ไสยาสน์ ชำระศิรเกล้า แล้วทรงวัตถา สะอาดประดับอาภรณ์ทั้งปวง เสด็จทรงวอไปทำประทักษิณพระบุรีด้วยมหันตบริวาร แล้วพระนางนั้น

ได้ให้สร้างอรัญญิกรัมมการาม (ได้แก่วัดดอกแก้ว) ในด้านปาจินทิศแห่งบุรีนั้น สร้างวิหารสร้างพระพุทธรูปด้วย แล้วถวายให้เป็นที่อยู่แห่งสงฆ์มีพระเถระเป็นประธาน

ถัดนั้นไป ให้สร้างอาพัทธาราม (ได้แก่วัดพระคง) ในด้านอุตรทิศแห่งพระบุรี ถวายให้สงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ

ถัดไปนั้น ได้สร้างมหาวนาราม (ได้แก่วัดมหาวัน) ในด้านปัจฉิมทิศแห่งนั้น สร้างพระวิหารด้วยสร้างพระพุทธรูปด้วย กุฏิอันบวรด้วย สำหรับพระสงฆ์จำพรรษาในอารามนั้น แล้วเลี้ยงดูด้วยน้ำข้าว

ถัดนั้นไป ให้สร้างมหารัตตาราม (ได้แก่วัดประตูลี้) ในด้านทักษิณทิศแห่งบุรีนั้น สร้างพระวิหารด้วย พระพุทธรูปด้วย งดงามสุดจะเปรียบปานให้พระสงฆ์จำพรรษาในอารามนั้น แล้วให้เลี้ยงดูด้วยข้าวน้ำ

พระนางจามเทวีเจ้าได้สร้างมหาวิหาร ๕ ตำบล ส่วนพระองค์เอง…ฯลฯ…

 

วัดมหาวัน

วัดมหาวัน (วัดมหาวนาราม) ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศตะวันตก ห่างจากประตูมหาวัน ซึ่งเป็นทวารพระนครเบื้องตะวันตก ประมาณ ๕๐ เมตร

คำว่า มหาวนาราม เป็นคำสนธิของคำว่า มหาวัน กับ อาราม นั่นเอง แสดงว่าพระอารามนี้ยังคงมีนามเช่นเดิมมาตั้งแต่แรกสถาปนา เมื่อ ๑๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว อาร์ เลอ เมย์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวไว้ว่า

…ในจามเทวีวงศ์กล่าวว่า พระนางจามเทวีได้ทรงสถาปนาพระอารามทั้ง ๕ ขึ้นในลำพูน (รวมถึงจตุรพุทธปราการและสุสานหลวง) และแห่งหนึ่งในพระอารามทั้งนี้ได้แก่ มหาวัน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร วัดนี้ในปัจจุบันตั้งอยู่ใกล้กับประตูเมืองด้านตะวันตก และยังคงมีนามเช่นเดิมอยู่แม้ในทุกวันนี้ ยังได้พบศิลาจารึกภาษามอญหลักหนึ่งที่วัดนี้ด้วย…

ศิลาจารึกที่ อาร์ เลอ เมย์ กล่าวถึงนี้คือหลักที่ ๑๗๐ (ประชุดศิลาจารึกสยาม ภาคที่ ๑ ของศาสตราจารย์เซเดส์) ซึ่งได้รับการรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสาขาจังหวัดลำพูน รวมอยูกับหลักต่างๆ ที่พบ ณ ที่อื่นๆ ในลำพูน สำหรับคำอ่านและคำแปลภาษาฝรั่งเศสนั้น ท่านศาสตราจารย์เซเดส์ และอาร์ ฮอลลิเดย์ ได้ทำไว้ใน B.E.F.E.C. ฉบับที่ ๑๐ และ ๒๕ (คือฉบับเดียวกับที่กล่าวถือศิลาจารึกของวัดดอกแก้วและอื่นๆ ในลำพูน) สถาพของหลักที่ ๑๗๐ นี้ชำรุด อักษรลบเลือนมาก เนื้อความที่รวบรวมได้มีความกระท่อนกระแท่นมาก แต่ทราบได้ว่าเป็นจารึกของพระเจ้าสรรพสิทธิ์ บอกเรื่องราวการที่พระองค์ทรงทำนุบำรุงพระอารามแห่งนี้เป็นอันมาก กล่าวถึงโลหะต่างๆ ที่ใช้สร้างพระพุทธรูป เงินที่ถวายบำรุงพระอาราม พระเจดีย์องค์หนึ่งมีนามว่า พระเจดีย์ราชะ พระพุทธรูป ๒ องค์ ทาสที่ให้ไว้ปฏิบัติบำรุงพระอาราม อุโมงค์ และดินที่ปลูกแล้ว

แม้ข้อความที่เก็บได้จะกระท่อนกระแท่น แต่หากเทียบเคียงกับตำนานมูลศาสนาอันทรงคุณค่ายิ่งจะพบเรื่องราวตามตำนานกล่าวว่า

…ถัดนั้นยังมีพระยาตนหนึ่งชื่อสรรพสิทธิ์เกิดมาได้ ๕ ขวบ เป็นพระยาแทนพ่อ เมื่อเป็นพระยาใหญ่ได้ ๗ ปี ก็ปลงสมบัติไว้ให้กับแม่ แล้วออกบวชเป็นสามเณร เมื่อใหญ่ได้ ๑๐ ปี ให้สร้างมหาวันกับทั้งเจดีย์ เมื่อเสร็จแล้วก็ฉลอง และถวายทานเป็นอันมาก แล้วสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งไว้ในมหาวันนั้น เมื่อท่านมีอายุ ๑๗ ปี จึงสึกออกมาเป็นคน ก็ได้ราชาภิเษกชื่อว่าพระยาสรรพสิทธิ์นั้นแล…

แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าสรรพสิทธิ์บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาวัน ทรงปฎิสังขรณ์วัดมหาวันและพระเจดีย์ พระเจดีย์ที่ทรงปฎิสังขรณ์นี้คงจะเป็นพระเจดีย์ใหญ่ ซึ่งพระนางจามเทวีได้ทรงสถาปนาขึ้นนั่นเอง

เมื่อผสมผสานระหว่างข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑๗๐ และตำนานมูลศาสนาแล้ว จะเห็นได้ว่ามีการกล่าวถึงพระเจดีย์กรุพระรอด และคำว่า อุโมงค์ คือกรุภายในเจดีย์ซึ่งเป็นที่บรรจุพระรอดนั่นเอง

ตำนานมูลศาสนาได้กล่าวเรื่องราวสำคัญของวัดมหาวันไว้อีกตอนหนึ่งในสมัยพระยาคำฟูว่า

…ลูกท่านชื่อพระยาคำฟู ออกไปรบเอาเมืองตาก แพร่ ได้เข้ามาถวายแด่พ่อตนมากนัก ตั้งแต่นั้นไปพระยาคำฟูก็ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม แล้วไว้คนสำหรับให้กวาดลานมหาเจดีย์เจ้าด้านละคน ไว้กวาดลานพระพุทธรูปเจ้าผู้หนึ่ง ไว้กวาดลานมหาโพธิ์ผู้หนึ่งในวัดมหาวันนั้น ถัดนั้นก็ได้ถวายกัปปิยการกเจ้าวัดละคน…

คำว่า มหาเจดีย์เจ้า ในที่นี้คือพระเจดีย์โบราณอันเป็นกรุพระรอด ซึ่งพระนางจามเทวีเจ้าได้ทรงสถาปนาไว้พร้อมกับพระอาราม ซึ่งในจารึกหลักที่ ๑๗๐ เรียกว่า พระเจดีย์ราชะ อันมีความหมายว่า เจดีย์หลวง คือพระเจดีย์ที่กษัตริย์ทรงสร้างนั่นเองและพระเจ้าสรรพสิทธิ์ได้ทรงปฏิสังขรณ์มาแล้วครั้งหนึ่งในรัชสมัยของพระองค์ คำว่า พระพุทธรูปเจ้า หมายถึง พระพุทธรูปองค์ใหญ่ของพระนางจามเทวีที่ได้สร้างไว้ หรืออาจจะเป็นองค์ที่พระเจ้าสรรพสิทธิ์ทรงสร้างไว้อีกองค์หนึ่งก็ได้ เพราะจารึก หลักที่ ๑๗๐ บอกไว้ว่ามีพระพุทธรูป (กยาค) ๒ องค์

ในพระวิหารวัดมหาวันมีพระพุทธรูปหินสลักลักษณะทำนองเดียวกับพระรอด หน้าตักกว้าง ประมาณ ๑ ศอก แต่ถูกพอกปูนเสียจนไม่เห็นศิลปะเดิม ส่วนคำว่า พระมหาโพธิ์ นั้น น่าจะหมายถึงพระมหาโพธิ์ที่ปลูกขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี เพราะในจารึกมีคำว่า ทาสคนหนึ่ง และ ดินที่ปลูกแล้ว เป็นความกระท่อนกระแท่นที่เกี่ยวกับพระศรีมหาโพธิ์และทาสที่ปฏิบัติบำรุงพระศรีมหาโพธิ์ ทั้งในปัจจุบันนี้ยังมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่งเบื้องหน้าวัดมหาวันตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดอาจจะกล่าวได้ว่า โพธิ์ต้นนี้สืบเชื้อสายมาจากพระมหาโพธิ์ของพระนางจามเทวีที่ทรงปลูกไว้ ดังที่ในตำนานและศิลาจารึกกล่าวถึง

วัดมหาวันนี้เป็นพระอารามที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วทุกภูมิภาคของเมืองไทย ทั้งนี้มิใช่เพราะเรื่องอื่นใด นอกจากเพียงประการเดียวคือเป็นแหล่งกำเนิดของพระรอด พระเครื่องชั้นยอดเยี่ยมของบ้านเมืองเรา

คำจารึกใต้ฐานรูปพระฤาษีในซุ้มทั้งสี่ของพระเจดีย์ฤาษี วัดพระคง ได้กล่าวข้อความไว้ดังต่อไปนี้

ด้านเหนือ คือ สุเทวฤาษี ผู้รักษาพระนครฝ่ายทิศใต้

ด้านใต้ คือ สุกกทันตฤาษี ผู้รักษาพระนครฝ่ายทิศใต้

ด้านตะวันออก คือสุพรหมฤาษี ผู้รักษาพระนครฝ่ายทิศตะวันออก

ด้านตะวันตก คือ สุมณนารทะฤาษี ผู้รักษาพระนครฝ่ายทิศตะวันตก

แสดงว่าพระฤาษีทั้งสี่ได้พร้อมใจกันสร้างพระศักรพุทธปฎิมาสกุลลำพูนบรรจุไว้ในพระสถูปหรือกรุของจตุรพุทธปราการ ซึ่งพระนางจามเทวีได้ทรงสถาปนาขึ้น เป็นการโดยเสด็จพระราชกุศลพระนางเจ้า และข้อสำคัญก็คือ เพื่อเพิ่มเกณฑ์ชะตาพระนครและจตุรพุทธปราการให้เรี่ยวแรงแข็งขอบยิ่งขึ้นเป็นอเนกประการ

พระสุเทวฤาษี ผู้สร้างพระคงเป็นผู้มาจากเบื้องทิศเหนือแห่งพระนคร คือมาจากอุฉุบรรพต (ดอยอ้อย) หรือดอยสุเทพ ริมฝั่งน้ำโรหิณีนที (ลำน้ำแม่ขาน) จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้น จึงเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้สร้างพระศักรพุทธปฏิมาดังกล่าว บรรจุไว้ในสถูปแห่งอาพัทธาราม (วัดพระคง) เพื่อเป็นสิริสวัสดิรักษาแห่งทวารพระนครฝ่ายทิศเหนือ คือ ประตูช้างสี

พระสุกกทันตฤาษี ผู้สร้างพระเลี่ยงและพระฦา ฯลฯ เป็นผู้จาริกมาจากเบื้องทิศใต้ของพระนครหริภุญไชย คือมาจากดอยธัมมิก (เขาสมอคอน) แห่งละวะปุระ (ละโว้) จึงเป็นพระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทพระเครื่องสกุลลำพูนดังกล่าวไว้ ณ มหารัตตาราม (วัดประตูลี้) เพื่อเป็นอาถรรพณ์พุทธวัตถุอารักขา ทวารพระนครฝ่ายทางเบื้องใต้ คือ ประตูลี้

พระสุพรหมฤาษี ผู้ประดิษฐาน พระบาง พระเปิม พระสาม พระแปด พระสิบสอง และพระเปื๋อย ฯลฯ ผู้จาริกมาจากเบื้องตะวันออกของมหานคร คือจากสุภบรรพต (ดอยงาม) ริมฝั่งน้ำวังกะนที (แม่น้ำวัง) เมืองนคร (ลำปางหลวง) จึงเป็นพระอาจารย์ผู้เนรมิตพระศักรพุทธปฏิมาดังกล่าวไว้ ณ กรุของอรัญญิกรัมมการาม (วัดดอกแก้ว) ปกป้องคุ้มครองทวารพระนครฝ่ายตะวันออก คือ ประตูท่าขุนนาง นั่นเทียว

พระสุมณนารทะฤาษี ผู้สร้างพระรอด เป็นพระอาจารย์ผู้มาจากฝ่ายทิศตะวันตกของพระนคร คือจากชุหบรรพต (ดอยอินทนนท์) สานุมหาพน (มหาวัน) ป่าใหญ่เบื้องตะวันตกของหริภุญไชย จึงเป็นพระฤาษีผู้ประกอบปฏิมากรรมแห่งพระรอด บรรจุไว้ในพระมหาเจดีย์ (เจดีย์หลวงมหาวัน) แห่งมหาวนาราม (วัดมหาวัน) เพื่อให้เป็นพลังอิทธิวัตถุอภิบาลทวารพระนครฝ่ายตะวันตก อันได้แก่ ประตูมหาวัน นั้น

 

พระคง มีความหมายและคุณวิเศษในด้านความพัฒนาสถาพร ความมั่นคงแข็งแรง และความคงกระพันชาตรี คำว่า คง เป็นคำที่ถอดความหมายจากนามเดิมว่า อาพัทธ อันมีความหายดังกล่าวส่วนนามพระสุเทวฤาษีผู้สร้างนั้น มีความหมายว่าฤาษีผู้เป็นเทพ หรือเทวะผู้ประเสริฐ อนึ่ง เทวะนั้นหมายถึง ผู้เป็นอมร หรือ อมตะ กล่าวคือ หมายถึงผู้ชีวิตอันยืนยงคงกระพัน ไม่รู้จักตาย

พระเลี่ยง แม้จะมิได้มีความหายของนามสืบเนื่องมาจากนามของพระสุกกทันตฤาษีผู้สร้างแต่มีความหมายตามนามของพระอารามอันเป็นแหล่งกำเนิด และทวารด้านที่พระอารามประจำอยู่ กล่าวคือรัตตาราม (วัดประตูลี้) หมายถึงความหลีกลี้หนีเลี่ยงจากข้าศึกศัตรู เช่นเดียวกับนามของพระเครื่อง ชนิดนี้ที่มีว่า พระเลี่ยง ฉะนั้น

พระฦา คำว่า ฦา นี้อาจมาจาก ฤา หรือ ฤาษีหรือมิฉะนั้นอาจมาจากคำว่า นาไลย์ อันเป็นนามของพระฤาษีสำคัญในไสยศาสตร์คู่กับพระฤาษีนารอท (ผู้สร้างพระรอด) กล่าวคือ พระสุกกทันตกฤาษี แปลว่า ฤาษีฟันขาว น่าจะเป็นนามฉายามากกว่าที่จะเป็นนามจริง เช่นเดียวกับคำว่า พุทธชฎิลฤาษีอันเป็นนามฉายาของพระฤาษีนารอด ซึ่งเป็นลักษณะนามบอกให้ทราบว่า เป็นฤาษี ผู้ขมวดมวยผมเป็นกระมุ่น และคำว่า พุทธ นั้นบอกให้ทราบว่าพระฤาษีตนนี้มีนามเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง คือ พระนารทพุทธเจ้า มาเป็นพระนารทะ ดังนี้เป็นต้น

พระเปิม คำว่า เปิม เข้าใจว่าเพี้ยนมา จากคำว่า พรหม ซึ่งออกเสียงให้ถูกตามเลขจะเป็น พะระหะมะ กล้ำกันเร็วๆ เสียงจะกลายเป็น เพริม หรือพรัม และเพี้ยนต่อไปเป็น เพิม และเปิม ในที่สุดคำว่า พรหม ก็คือนามของ พระสุพรหมฤาษี ผู้สร้างพระเครื่องชนิดนี้นั่นเอง

พระบาง คำว่า บาง อาจจะย่อมาจากคำว่าอาลัมพางค์ หรือ ลำปาง อันเป็นถิ่นพำนักของพระสุพรหมฤาษี ผู้สร้างพระเครื่องชนิดนี้ นานๆ เข้าคำว่า อาลัมพางค์ ก็สั้นๆ เข้ากลายเป็น บาง ไปในที่สุด

พระรอด คำว่า รอด น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า รอท หรือ นารทะ อันเป็นนามของพระฤาษีนารอทหรือพระนารทะฤาษี อย่างแน่นอนที่สุด ดังได้กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าจะสะกด หรือเขียนอย่างไร ก็จะมีความหมายว่าความแคล้วคลาดและปลอดภัย
.

กำหนดอายุการสร้าง

ดังได้กล่าวแล้วว่า พระนางจามเทวีได้ทรงสถาปนาพระอารามที้งสี่ คือ จตุรพุทธปราการ (วัดสี่มุมเมือง) ในปี พ.ศ. ๑๒๒๓ เมื่อพระนางมีพระชนมายุได้ ๕๓ ชันษา และพระราชโอรสทั้งสองคือเจ้าอนันยศและเจ้ามหัตยศมีพระชนมายุ ๑๘ ชันษาและพระคณาจารย์อันได้แก่พระฤาษีทั้งสี่ ก็ประชุมพิธีสร้างพระศักรพุทธปฏิมาสกุลลำพูนขึ้น บรรจุไว้ในแต่ละแห่งของจตุรพุทธปราการเพราะฉะนั้น พระรอดและพระเครื่องสกุลลำพูน จึงได้รับการสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๒๒๓ นั่นเอง มีอายุการสร้างปัจจุบันนี้ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ ๑๓๑๙ ปี นับว่าเป็นพระเครื่องที่เก่าแก่หรือมีอาวุโสสูงทีสุดในบรรดาพระเครื่องทั้งหลาย

วัดมหาวัน (มหาวนาราม) ได้มีการขุดหาพระรอดกันหลายครั้งหลายหนจนประมาณครั้งมิได้เท่าที่สืบทราบได้มาดังต่อไปนี้

การพบกรุพระรอดในสมัยเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๔๔๕ พระเจดีย์มหาวันชำรุดทรุดโทรมและพังทลายลงมาเป็นส่วนมากดังนั้น เจ้าเหมพินธุไพจิตรจึงดำริให้มีการปฎิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ โดยการสร้างสวมครอบองค์เดิมลงไป และเศษที่ปรักหักพังที่กองทับถมกันอยู่นั้นได้จัดการให้โกยเอาไปถมหนองน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างหอสมุดของวัด ได้พบพระรอดเป็นจำนวนมากมายภายในกรุเจดีย์มหาวันนั้น พระรอดส่วนหนึ่งได้รับการบรรจุกรุกลับคืนเข้าไปในพระเจดีย์ตามเดิม อีกส่วนหนึ่งมีผู้นำไปสักการบูชา และส่วนสุดท้ายนั้นปะปนกับซากกรุและเศษดินทรายจมอยู่ในหนองน้ำดังกล่าว

การพบพระรอดในกรุสมัยเจ้าหลวงอินทยงยศ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ครั้งนั้น เจ้าหลวงอินทยงยศได้พิจารณาเห็นว่า มีต้นโพธิ์ขึ้นแทรกตรงบริเวณฐานพระเจดีย์มหาวัน และรากชอนลึกลงไปภายในองค์พระเจดีย์มหาวัน ทำให้มีรอยร้าว ชำรุดหลายแห่ง จึงให้ช่างรื้อฐานรอบนอกพระเจดีย์ออกเสียและปฎิสังขรณ์ใหม่ การกระทำครั้งนี้ได้พบพระรอดซึ่งเจ้าเหมพินธุไพพจิตรรวบรวมบรรจุไว้ในคราวบูรณะครั้งใหญ่นั้น เป็นจำนวน ๑ กระซ้าบาตร (ตะกร้าบรรจุข้าวตักบาตร) ได้นำมาแจกจ่ายบรรดาญาติวงศ์ (เจ้าหลวงจักรคำ ขจรศักดิ์ ผู้เป็นบุตร ในสมัยนั้นยังเป็นหนุ่มก็ได้รับพระรอดจากเจ้าพ่อไว้เป็นจำนวนมากและเป็นมรดกตกทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้) และทั้งได้จัดพิธีสร้างพระรอดรุ่นใหม่ขึ้นบรรจุไว้แทน ส่วนฐานพระเจดีย์ที่ปฏิสังขรณ์ใหม่นั้นก็ให้ขยายกว้างขึ้นกว่าเดิม

การขุดหาพระรอดในฤดูแล้ง นับแต่สมัยปฏิสังขรณ์มหาวันเจดีย์เป็นต้นมา นับวันยิ่งปรากฏมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสในคุณวิเศษของพระรอดอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะคุณวิเศษของพระรอดเป็นมหัศจรรย์อย่างสูงแก่ผู้ที่มีไว้สักการบูชา จึงมีผู้พากันมาขุดหาพระรอดกันภายในบริเวณอุปาจารของวัด ตรงบริเวณที่เคยเป็นแอ่งน้ำ ได้พระรอดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ต่อไปก็ขยายบริเวณการขุดออกไปอย่างกว้างขวางทั่วอุปจารของวัด และได้กระทำติดต่อกันมานานปี จนกลายเป็นประเพณีกลายๆ ของชาวลำพูน คือในฤดูแล้งภายหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว คือระหว่างเดือน ๔ ถึงเดือน ๖ ทุกปี จะมีชาวบ้านมาขุดหาพระรอดกันในวัดมหาวัน จนพื้นที่ของวัดเต็มไปด้วยหลุมบ่อ ทางวัดจึงห้ามการขุดกันอีกต่อไป

การขุดพบพระรอดในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื่องจากมีการปฏิสังขรณ์กุฎิเจ้าอาวาสวัดมหาวัน ในการขุดดินเพื่อลงรากฐานการก่อสร้างด้านหน้าและใต้ถุนกุฏิ ได้พบพระรอดเป็นจำนวนประมาณ ๒๐๐ องค์เศษทุกองค์จัดว่าเป็นพระรอดที่เนื้องามทั้งสิ้น มีวรรณะผุดผ่องงดงามยิ่งนัก และมีหลายพิมพ์ทรงแทบจะไม่ซ้ำกันเลย ได้เริ่มขุดในมกราคม สิ้นสุดในสิงหาคมนอกจากพระรอดแล้ว ยังขุดได้พระเครื่องสกุลลำพูนอีกหลายชนิด เช่น พระคง พระบาง พระเลี่ยง พระสาม พระสิบ พระสิบสอง พระงบน้ำอ้อย พระกล้วย พระกวาง และพระแผ่นทอง เป็นต้น

การขุดพบพระรอดในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ทางวัดมหาวันได้เริ่มการรื้อพระอุโบสถเพื่อปฏิสังขรณ์ได้พบพระรอดประมาณ ๒๐๐ องค์เศษ ภายใต้พื้นพระอุโบสถนั้น พระรอดจำนวนหนึ่งได้มีผู้นำมาจำหน่ายในกรุงเทพฯ ในราคาสูงมาก และส่วนมากเป็นพระชำรุดและเนื้อไม่จัด ยิ่งกว่านั้น บางองค์ที่พระพักตร์ชัดเจน จะมีลักษณะพระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์โปนเด่น หัตถ์มี ๖ นิ้ว
พระรอดมีพิมพ์นิยมในวงการพระเครื่อง ๕ พิมพ์ด้วยกัน คือ

1.พิมพ์ใหญ่

2.พิมพ์กลาง

3.พิมพ์เล็ก

4.พิมพ์ตื้น

5.พิมพ์ต้อ

พระรอดได้ขุดพบที่วัดมหาวัน พุทธศิลปะอยู่ในยุคกลางของสมัยหริภัญไชย (ลำพูน) อาณาจักรหริภุญไชยสร้างขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ เป็นอาณาจักรของกลุ่มชนมอญโบราณทางภาคเหนือของประเทศไทย รับนับถือพระพุทธศาสนาหินยานใช้ภาษาบาลีจดคำสอนทางศาสนา ได้มีการกำหนดอายุสมัยและศิลปะพระรอดว่า สร้างในสมัยกษัตริย์จามเทวี เป็นยุคต้นของสมัยหริภุญไชย มีศิลปะสมัยทวาราวดี ในทางพุทธศิลปะแล้ว พระรอดน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงหลังสมัยทวาราวดีสร้างพระพุทธรูปนั่งขัดหลวมและหงายฝ่าพระบาทกางออก และไม่ปรากฏพระพุทธรูปนั่งขัดเพชรในศิลปะทวาราวดี พระพุทธรูปนั่งขัดเพชรเป็นแบบอย่างเฉพาะของพระพุทธรูปอินเดียฝ่ายเหนือ(มหายาน) พระพุทธรูปและพระเครื่องในลำพูนได้ปรากฏศิลปะสมัยต่างๆ รวมอยู่หลากสมัย คือสมัยทวาราวดี ลพบุรี แบบหริภุญไชย พุกาม อู่ทองและสมัยล้านนา