พระขุนแผนไข่ผ่า วัดพระรูป สุพรรณบุรี

พระกรุ

“วัดพระรูป” อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี นับเป็นอีกพระอารามหนึ่งที่พบ “กรุพระขุนแผนไข่ผ่า” ซึ่งมีอายุการสร้างสูงกว่าพระสกุลขุนแผนทั้งหมดในสุพรรณบุรีทีเดียว พระขุนแผนวัดพระรูปขึ้นจากกรุครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. 2450 และต่อมายังพบที่กรุวัดอื่นๆ ในเขตเมืองสุพรรณอีกหลายแห่ง พระขุนแผนไข่ผ่าจากกรุวัดพระรูป ลักษณะของแบบมีเพียงพิมพ์เดียวเท่านั้น (มีอีกพิมพ์ทรงพระชะลูดสูงกว่าแต่เล็ก เรียกว่า “พระขุนแผนแตงกวาผ่า”) พระขุนแผนไข่ผ่าเป็นพระเครื่องเนื้อดินเผาค่อนข้างแก่ผงเนื้อนุ่มละเอียดมีกรวดทรายน้อย แต่ของกรุอื่นๆ ที่พบภายหลังเนื้อหยาบมีกรวดทรายมาก ความนิยมจึงแพ้พระกรุวัดพระรูป

“พระขุนแผนไข่ผ่า” เป็นพระเครื่องศิลปะแบบอู่ทองผสมลพบุรี ขนาดของพระใกล้เคียงกับไข่ไก่มาก รวมทั้งด้านหลังยังอูมนูนสูงทุกองค์ด้วย นักเลงพระยุคนั้นพบเห็นพระแล้วเหมือนไข่ผ่าซีก ก็เลยเรียกกันว่า “พระขุนแผนไข่ผ่า” ตั้งแต่ครั้งนั้นมาครับ, เรื่องรูปทรงลักษณะของพระขุนแผนไข่ผ่านี้ ไหนๆ ก็ติดศิลปะลพบุรีเข้าร่วมแล้ว ยังหลงเรียกว่า “พระขุนแผนกุมารทอง” นั้นหมดสมัยแล้วครับ (ฐานล่างไม่ใช่ตัวกุมารทอง) อย่าไปเรียกเข้าอีกเลย!….สำหรับเรื่องพุทธคุณของพระขุนแผนไข่ผ่านี้ ว่ากันแบบมีประสบการณ์กันมาแล้ว ก็คือดีด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรีและควบคุมมหาอุตม์อีกด้วย เชื่อถือได้ครับ

ไม่ว่าหญิงหรือชาย พอเอ่ยถึง พระขุนแผน เข้าละก้อต่างก็มักจะมีทัศนคติต่างกันไปคนละทางอย่างเข้ากันไม่ได้ทีเดียว หนุ่ม ๆ สมัยนี้ที่เชื่อเครื่องรางของขลังต่างก็ยกนิ้วโป้งให้กับพระขุนแผนว่า ใช้แล้วยอด เสน่ห์แรงชะงัดนัก แต่ฝ่ายหญิงที่เป็นศรีภรรยาก็เถอะ พอเห็นพระสามีพกพระขุนแผนเข้าเท่านั้น เผลอแผล็บเดียวแม่หอบเอาไปถวายวัดซะนี่ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะต่างก็เชื่อมั่นกันมานานแล้ว พระขุนแผนนี่แหละคือวัตถุมงคลที่รวมเอาเสน่ห์ไว้อย่างแรงอย่าบอกใครเชียว

ท่านเป็นคนหนึ่งที่เชื่ออย่างนั้นหรือเปล่า พระชุนแผนจะทรงไว้ซึ่งพุทธคุณดั่ง ขุนแผน ในวรรณคดีจริงหรือไม่ หรืออาจทำให้ผู้ใช้ต้องกลายเป็น ขุนเผ่น ไป เพราะพระขุนแผนนี้ไซร้ หาได้แรงฤทธิ์ด้านเสน่ห์ไม่ เรื่องจะลงเอยกันอย่างไรนั้นโปรดติดตาม พระขุนแผน พระเครื่องอีกพิมพ์หนึ่งที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดสุพรรณบุรีแล้ว พระขุนแผนเรื่องนี้จะคลี่คลายข้อข้องใจให้กับท่านได้อย่างสิ้นเชิงทีเดียว นั่นก็คือ

พระขุนแผน ไข่ผ่า

เอาละซิ, ลง พระขุนแผน มีสร้อยต่อท้ายว่า ไข่ผ่า อย่างนี้แล้ว อย่างไรเสียพระขุนแผนก็ต้องมีมากพิมพ์, มากกรุ และมากเมืองอย่างไม่มีปัญหา ก็เมื่อเป็นเช่นนี้พระเครื่องสกุล พระขุนแผน ทั้งหมดจึงต้องมีสร้อยต่อท้ายไว้เพื่อที่จะไม่ให้ซ้ำกัน แต่บางครั้งฟังแล้วก็น่าฉงนพอดู ดังนั้นก่อนที่เราจะพุ่งเข้าสู่เป้าหมายของ พระขุนแผนไข่ผ่า อันเป็นเรื่องราวที่ผมจะนำมาคุยกับท่านต่อไป ก็จะขอพูดถึงเบื้องหลังอันเป็นที่มาของชื่อพระขุนแผนพิมพ์ต่าง ๆ กันไว้ก่อนดังนี้ครับ

เบื้องหลังการตั้งชื่อ พระขุนแผน

การตั้งชื่อบรรจุเข้าต่อท้ายพระขุนแผนมากพิมพ์ที่ปรากฏอยู่ในพระเครื่อง ตับขุนแผน นั้น เท่าที่ผ่านตาผมมาแล้วดูเหมือนจะไม่ซ้ำกันเลยจริง ๆ อย่างที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองต้นกำเนิดพระพิมพ์ขุนแผนนั้น ก็มีพระพิมพ์นี้อยู่มากแบบ ที่มีชื่อต่อท้ายไว้โดยไม่ซ้ำกันก็มี พระขุนแผน เคลือบ พิมพ์นี้ทรงเป็นลักษณะห้าเหลี่ยม ถ้าลงเอ่ยถึงพระขุนแผนที่ต่อท้ายคำว่า เคลือบ (หมายถึง พระถูกเคลือบน้ำยาไว้อีกชั้นจริง ๆ) ก็เป็นอันรู้กันได้ทันทีว่า เป็นของกรุวัดใหญ่ชัยมงคล นั้นเอง และที่กรุเดียวกันนี้ก็ยังมี พระขุนแผน ใบพุทรา เขาต่อท้ายไว้เช่นนี้เพราะพระขุนแผนพิมพ์นี้มีลักษณะเหมือนใบพุทราจริง ๆด้วย นอกจากนั้นที่วัดมณเฑียร ก็มี พระขุนแผน ใบเสมา เป็นพระที่มีผู้รู้จักกันน้อย คำต่อท้ายเช่นนี้ก็เพราะลักษณะขององค์พระ เป็นแบบใบเสมาจริงของเขาครับ

สำหรับ จังหวัดกาญจนบุรี ก็มีพระขุนแผนด้วยเหมือนกันอย่างเช่น พระขุนแผน วัดเขาชนไก่ เอ่ยชื่อต่อท้ายไว้เช่นนี้ถ้านักเลงพระได้ยินเข้าก็จะรู้ทันทีว่า เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมจัดออกสีน้ำตาลไหม้ จะเอาความหมายจากชื่อไม่ได้เพราะนั่นเป็นชื่อวัด ถึงกระนั้นก็ยังมีพวก มือผี ออกพิมพ์เป็นพระขุนแผนนั่ง ที่ใต้ฐานประทับมีไก่ 2ตัวกำลังชนกันมันพิลึก, พ่อเจ้าประคุณผี ๆ ก็ทำเก๊ออกมาเช่นนั้นก็คงจะเพื่อให้รู้ว่า พระกรุวัดเขาชนไก่ ขนานแท้นั้นต้องมีไก่ชนจริง ๆ ให้เห็นไว้ด้วย หรือไม่อีกทีพวกคงสร้างไว้ต่อต้านพิมพ์พระ สมเด็จแจวเรือจ้าง ก็ว่าได้ใครจะไปรู้ นอกจากนั้นที่เมืองนี้ยังมี พระขุนแผน สะกดทัพ เป็นพระเนื้อชินผิวกลับดำลักษณะของพระยืนพิมพ์นี้ ทำทีราวกับขุนแผนออกศึกที่กำลังยืนสะกดทัพจริง ๆ ทีเดียว

แล้วทีนี้ก็มาถึง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่พบพระพิมพ์ ขุนแผน มากที่สุดอย่าที่กรุอันใหญ่ยิ่งของ วัดบ้านกร่าง นั้น เริ่มต้นก็มีพระขุนแผน พิมพ์ห้าเหลี่ยม ซึ่งเป็นพิมพ์ยอดนิยมของกรุนี้ คำว่า พิมพ์ห้าเหลี่ยม ต่อท้ายไว้ก็คือความหมายของพิมพ์ ที่ถูกตัดข้างออกเป็นแบบห้าเหลี่ยมนั่นเอง พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่างนี้ ยังมีเรียกต่อท้ายด้วยชื่อที่ไพเราะน่าฟัง โดยไม่ซ้ำกันเลยอีกมาก เช่น ขุนแผนทรงพล, ขุนแผนพิมพ์เถาวัลย์เลื้อย, ขุนแผนใบมะยม, ขุนแผนใบไม้ร่วง, ขุนแผนซุ้มเหลือบ ฯลฯ เป็นต้น

พระเครื่อง ตับขุนแผน ที่ผมได้หยิบยกเอาชื่อพระสกุลนี้ทั้ง 3 เมืองขึ้นมาอ้างไว้ดังกล่าวนี้ พระแต่ละองค์ยังไม่ปรากฏชื่อที่เป็นของกินไว้เลยแม้แต่พิมพ์เดียว หรือจะมีก็แต่ที่เป็น ใบ หาใช่เป็น ผล ไม่ แต่ก็มีพระอยู่กรุหนึ่งที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้ กลับใช้ชื่อพระต่อท้ายไว้ด้วยของกินที่กินได้ทุกคน อย่างเช่น พระขุนแผนไข่ผ่า ซึ่งพระของกรุ วัดพระรูป นี้ ชื่อที่ต่อท้ายให้ไว้ถูกต้องตามลักษณะเผงไปเลย เพราะทรงเป็นรูปไข่ด้านหลังอูมนูนเหมือนกับไข่ถูกผ่าซีกกระนั้น และจากกรุเดียวกันนี้ก็ยังมี พระขุนแผนแตงกว่าผ่า อีกพิมพ์หนึ่งด้วย ลักษณะโดยทั่วไปจะเหมือนกับแบบไข่ผ่า แต่ทรงจะชะลูดสูงทั้งด้านข้างยังถูกบีบจนเล็กอีกด้วย เลยทำให้พระพิมพ์นี้จึงดูคล้ายกับลูกแตงกวาผ่าซีกไว้ไม่ผิด

พระขุนแผน ไข่ผ่า กรุต่าง ๆ ที่สุพรรณฯ

เมื่อประมาณเกือบ 70 ปีมาแล้ว ได้มีผู้พบพระขุนแผนไข่ผ่าซีกเป็นครั้งแรกที่กรุ วัดพระรูป ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลรั้วใหญ่ จังหวัดสุพรรณบุรี การพบพระซึ่งอยู่ในเจดีย์เก่า ๆ ใกล้จะล้มแล้วในครั้งนั้น นอกจากจะได้พระขุนแผนไข่ผ่าซึกกว่า 400 องค์แล้ว ยังปรากฏว่า พระชุดกิมตึ่ง มี 4 องค์ ได้กับพระสี่กร, มอญแปลง, ประคำรอบ, และปรกชุมพล ซึ่งมีชื่อเสียงมากก็ได้รวมขึ้นมาจากกรุพร้อมกับพระพิมพ์อื่น ๆ อีกมากด้วย

ครั้นต่อมาประมาณพ.ศ. 2508 ทาง วัดพระรูป ได้มีการบูรณะอารามบางส่วนก็ได้พบพระขุนแผนไข่ผ่าซีกอีกกว่า 100 องค์ฝังจมอยู่ใต้ดินนั้นเอง และเมื่อถึง พ.ศ. 2510 ก็ได้มีผู้พบพระขุนแผนพิมพ์นี้ที่วัดพระรูปอีกมาก การพบครั้งหลังนี้ได้พระ 80 กว่าองค์ แต่เนื้อออกค่อนข้างหยาบไปบ้าง เป็นการแสดงให้รู้ว่านั่นเป็นพระขุนแผนที่ได้มีการสร้างกันต่อมาอีกในระยะหลัง ๆ นั่นเอง

เรื่องการพบพระขุนแผนพิมพ์ไข่ผ่าซีกนี้ มิใช่จะมีแต่ที่วัดพระรูปก็หาไม่ เพราะหลังจากได้พบ ครั้งแรกแล้วต่อมาอีกไม่นานนักที่สุพรรณบุรี ก็ได้พบพระขุนแผนไข่ผ่าซีกที่กรุวัดประตูสาร, วัดละคร, และที่วัดปากแสงจันทร์ อีกไม่นานนัก ทั้งนี้ว่ากันในเรื่องพิมพ์แล้ว ก็คงเหมือนเดิมทุกอย่างจะผิดบ้างก็ตรงเนื้อเท่านั้น เพราะมีบางกรุเนื้อค่อนข้างหยาบไปกว่าเดิมอีกก็มี

จากเรื่องราวการพบพระพิมพ์นี้อีกครั้ง ในท้องที่ต่างกันดังได้กล่าวไปแล้วนั้น ก็ได้ปรากฏอย่างเด่นชัดออกมาว่า พระขุนแผนพิมพ์ไข่ผ่าซีกจะต้องมีอายุมากกว่าพระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยมกรุวัดบ้านกร่างทั้งหมด โดยประมาณว่าห่างกันเป็นร้อย ๆ ปีทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะพระขุนแผนไข่ผ่าเป็นพระเครื่องศิลปแบบอู่ทองที่รับเอาอิทธิพลศิลปลพบุรีเข้าผสมไว้อย่างชัดแจ้งประการหนึ่ง และเมื่อหันกลับมาพิจารณาด้านเนื้อของพระสกุลนี้ด้วยแล้ว ความละเอียดของเนื้อตลอดจนผลที่ผสมส่วนไว้ รวมทั้งกรวดทรายละเอียดที่รวมตัวอยู่ให้เห็นนั้น เนื้อพระดังกล่าวนี้เอง เราจะหาดูได้จากพระที่ขุดพบเมืองลพบุรีเป็นส่วนมากอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้าจะว่ากันให้เข้าท่าก็คือ พระขุนแผนไข่ผ่า ของวัดพระรูปที่จังหวัด สุพรรณบุรีนั้น ที่แท้ก็คือ พระขุนแผนไข่ผ่า ของวัดพระรูปที่จังหวัด สุพรรณบุรีนั้น ที่แท้ก็คือพระเครื่องที่กำเนิดในสมัยอยุธยายุคต้น นั่นเองครับ

พุทธคุณ คงพระพันชาตรี

พระพุทธคุณของท่านนั้นก็นับว่ายอดอย่าบอกใครเชียว ท่านยอดจริง ๆ แต่ไม่ใช่ยอดทางเสน่หาอาลัยรักกันหรอก ท่านใช้ดี อย่างไรนั้น… โปรดติดตามเรื่องกันต่อไปดีกว่าครับ

เรื่องต่อไปนี้ก็ที่สุพรรณบุรีนั่นเอง เป็นเรื่องที่ได้เล่ากันต่อ ๆ มาว่า มีชายหนุ่ม 2 คนเป็นเพื่อนรักกันมากทั้งยังสืบสายเลือดเป็นชาวสุพรรณมาแต่กำเนิดอีกด้วย วันหนึ่งไม่รู้ว่าต่างก็เกิดโมโหอะไรกันขึ้นมาฝ่ายหนึ่งกำลังนั่งตกปลาเพลิดเพลินอยู่ริมตลิ่ง โดยมิได้ระวังตัว อีกฝ่ายหนึ่งได้ย่องเข้ามาจนใกล้แล้วใช้แหลนพุ่งปักด้านหลังเพื่อนรักของเขาอย่างแรง แต่แหลนอันนั้นกลับกระดอนกลับมาได้อย่างมหัศจรรย์ เหมือนพุ่งปักหินจนปลายแหลนยู่ ได้แอ้มเนื้อหนังมังสาชายเพื่อนรักเขาได้ไม่ นอกจากมันจะหัวทิ่มตกลงไปในคูเท่านั้นเอง

พอข่าวเรื่อง จำสังหารเพื่อนรักให้ตักษัย ของ2 ชายหนุ่มผู้มีอาชีพหาปลากเกิดพิฆาตกันได้เกรียวกราวเข้าหูชาวบ้านร้านตลาดเท่านั้น ในไม่ช้าชาวบ้านก็สืบได้ความว่าไอ้ที่เจ้าหนุ่มนั่งตกปลาเพลินจนถูกแหลนทิ่มแล้วไม่ตายนั้น ก็เพราะมันมี พระขุนแผนไข่ผ่า ถักลวดร้อยเชือกห้อยคออยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้น ความสำคัญจึงเกิดขึ้นกับพระพิมพ์นี่ทันที ที่เคยให้กันฟรี ๆ ก็อุบเงียบที่เคยให้เข่าเหมา 6 องค์บาท ราคาก็ได้เปลี่ยนเป็นองค์ละ 1 บาทขึ้นมาทันที

เรื่องพระพุทธของพระขุนแผนพิมพ์นี้ยังมีดีขึ้นไปอีก แต่คราวนี้เรื่องได้เกิดขึ้นกับชาวราชบุรี โดยมีเรื่องเล่ากันมาอีกเช่นกันว่า ทิดเปลื้อง มีพระขุนแผนข่าซีกกับเขาเหมือนกัน แกคุยฟุ้งถึงความรุนแรงในพระพุทธคุณของพระขุนแผนองค์นั้นว่า ดีทางด้านเสน่ห์และมหานิยมเยี่ยมมาก ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง นายมาก พูนสิทธิ์ ซึ่งเป็นนักเลงการพนันตัวลือ และเป็นเพื่อนกับทิดเปลื้องด้วย วันนั้นเกิดอารมณ์เน่าขนเงินไปวางเค้าเล่นไพ่กองเบ้อเร่อ เผลือเล่นอยู่พักเดียว เงินนั้นก็พลอยเน่าตามอารมณ์ไปด้วยจนเงินหมดเกลี้ยง ทิดเปลื้อง เห็นเพื่อนแย่ถึงขั้นจะช็อกตายเอา ตนจึงรีบไปเอาพระขุนแผนข่าผ่าซีกออกมาให้นายมากยืมใช้ พร้อมกับกระซิบว่า เอ็งเอาไปใช้เถอะ เชื่อได้เลย ยิ่งเรื่องเสน่ห์มหานิยม ข่มขวัญคู่เล่นให้งงงวยได้ดีนัก จงพกท่านติดตัวไป จะได้ทรัพย์รวยทางการพนัน

อีก 2 วันต่อมา แทนที่จะได้ข่าวนายมากร่ำรวย กลับกลายเป็น ทิดเปลื้อง เองนั่นแหละถูกตะพดของนายมากเล่นงานเอาถึงขนาดอวกออกมาเลย ฟุบจมอยู่ข้างคูใกล้บ้านนั่นเอง

เบื้องหลังของเรื่องนี้ได้ความว่า พอนายมากได้พระขุนแผนจากทิดเปลื้องไปแล้ว ก็รีบเอาที่นาไปจำนองขนเงินไปเล่นไพ่หวังรวยอีกครั้ง เพราะเชื่อมั่นในพระพุทธคุณในพระขุนแผนของทิดเปลื้องเอาอย่างแรงเชียว แต่ผลสุดท้ายสรุปได้ว่า ยิ่งเล่นยิ่งเจ๊ง นายมากว่าเสียหมดเค้าไปเลย อีตอนขากลับแทนที่แกจะแล่นไปยังบ้านตัว พวกกลับควงตะพดเข้าไปแพ่นกบาลทิดเปลื้อง จนนอนเค้เก้ดูคล้ายเป็นกุมารทองนอนอยู่ใต้ฐานพระไปทีเดียว

เรื่องจึงลงเอยว่า ถ้าใครจะเล่นการพนันกันละก้อ อย่าได้ชวนหลวงพ่อแผนไข่ผ่าซีกนี้ไปช่วยลุ้นเป็นอันขาด เพราะท่านเกลียดนักเรื่องการพนัน ส่วนเรื่องรัก ๆ ด้านเสน่ห์เท่าที่รู้พระขุนแผนพิมพ์นี้เห็นจะไม่มีแน่ ถ้าใครเชื่อมือว่าอาราธนาแล้วหลวงพ่อท่านอาจจะสงสารช่วยลูกช้างได้บ้างก็ลองดู แต่ที่แน่ ๆ เอากันด้านคงกระพันชาตรี และดีถึงขันมหาอุตม์อีกด้วยแล้วละก้อ เชื่อเถอะครับ พระขุนแผนไข่ผ่า ที่ผมได้คุยกับท่านผู้อ่านมาจนจะจบเรื่องอยู่แล้วนี่ รับรองว่า ถ้าหากมัจจุราชเดินสวนทางมาก็ยังต้องหลีกทางให้แน่ ๆ

โดยอาจารย์ ประชุม กาญจนวัฒน์