พระนางพญาเสน่ห์จันทน์

พระกรุ

ความจริงแล้วที่สุโขทัยนี้นับว่ายังมีพระเครื่องพิมพ์สำคัญๆ อยู่อีกมากองค์ทีเดียว อย่างเช่น พระลีลาวัดถ้ำหีบ พระร่วงนั่งกรุน้ำ พระวัดทัพเข้า พระวัดป่ามะม่วง พระร่วงตีนโด่ พระกรุแม่ย่า หรือแม้กระทั่ง พระพิมพ์บัว 2 ชั้น ซึ่งมีทั้งชนิดขนาดใหญ่ กลางและเล็กนั้น ถ้ามองในด้านความเหมาะสมแก่การขึ้นคอรวมทั้งพระพุทธคุณที่ดีเยี่ยมแล้ว ก็เห็นจะต้องยกให้กับ “พระนางพญาเสน่ห์จันทน์” ยอดพระเครื่องเนื้อดินเผา อีกพิมพ์หนึ่งที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่นานนี้เป็นแน่ เรื่องราวพระเครื่องที่ว่านี้เป็นอย่างไรก็จะเห็นจะต้องนำท่านไปสู่เป้าหมายของเรื่องได้แล้วครับ

“ชื่อวัด” ที่พัฒนามาแต่โบราณ

ท่านนักเลงพระบางท่านคงจะจำกันได้ว่า เมื่อพ.ศ.2502 นั้น กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะโบราณสถานที่จังหวัดสุโขทัยเป็นการใหญ่ โบราณสถานอันเก่าแก่หลายแห่งได้ถูกค้นพบพระพุทธรูปและพระเครื่องบรรจุกรุไว้มากมาย โดยเฉพาะที่วัด “ตาเถรขึงหนัง” หรือ “วัดศรีพิจิตรฯ” นั้น เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้พบกรุพระเครื่องที่ยิ่งใหญ่อีดกรุหนึ่ง อันเป็นที่มาของพระพิมพ์นางพญาเสน่ห์จันทน์ ซึ่งผมจะได้กล่าวถึงต่อไป

และก่อนที่ท่านจะได้รู้ว่าพระกรุนี้มีอะไรบ้างนั้น หลายท่านทีเดียวอาจจะสงสัยว่าทำไมชื่อวัดมีตั้งเยอะแยะ แต่ไหงจึงมาเรียกว่า “วัดตาเถรขึงหนัง” กันเช่นนี้ และที่เรียก “วัดศรีพิจิตรฯ” ก็มี ว่ากันให้ยุ่ง 2 ชื่ออย่างนี้ผมเองก็สงสัยอยู่ แต่ก็ขอเดาไว้ก่อนดังนี้ครับ

คำว่า “วัดดาเถรขึงหนัง” ชาวบ้านเขาเรียกกันมาแต่โบราณกาลแล้ว ใครเป็นผู้ตั้งไว้ไม่ทราบ จะให้เดาก็ใช่ที่ แต่มีคนเล่ากันต่อๆ มาว่า วัดร้างเก่าแก่ที่กรมศิลปากรไปบูรณะขุดพบพระนางพญาเสน่ห์จันทน์เข้านี้ เมื่อสมัยโน้นเขาว่าประดาตาเถรทั้งหลายมักจะชอบมานั่งชุมนุมสัมมนากันอยู่ที่วัดนี้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตาเถรรกลุ่มนี้แกคงอยู่ไม่สุข คงชอบขึงหนังทำกลองตากแห้งอยู่เสมอชาวบ้านก็เลยเรียกกันว่า “วัดตาเถรขึงหนัง” ตั้งแต่นั้นมา

เรื่องของการเรียกชื่อวัด มาตั้งแต่ครั้งโบราณนั้น ต่างเรียกกันแปลกๆ อยู่ และถ้าลงเรียกแล้วชื่อดังกล่าวก็มักจะเป็นเรื่องจริงที่ปรากฏขึ้นกับวัดมาก่อนด้วย อย่างเช่น “วัดลิงขบ” ที่ธนบุรี วัดนี้เมื่อก่อนนั้นเขาเล่าว่า มีลิงมากอยู่ แถมยังดุเอาการด้วยชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “วัดลิงขบ” เช่นนี้ เหมือนกับจะเป็นการเตือนภัยให้รู้ไว้ก่อนกระนั้น เรื่องชื่อวัดฟังแปลกๆ นี้แม้แต่ที่จังหวัดกำแพงเพชรเขาก็มี “วัดตาเถรขี่เกวียน” เหมือนกัน เรื่องก็มาลงเอาว่า วัดนั้นกลุ่มตาเถรทั้งหลายคงจะชอบขี่เกวียนกันมากกว่านั่งหลังควายก็ว่าได้ ชาวบ้านจึงพากันเรียกไว้เช่นนั้น พูดถึงเรื่องตาเถรมากไปก็ดูจะไม่เหมาะเพราะเรื่องออกจะเริ่มยาวไป อีกหน่อยก็ต้องมาลงที่ยายชีอีกเป็นแน่ กลับมาเรื่องของเราต่อไปดีกว่า

ความจริงแล้ว คำว่า “วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม” นั้นเขาเรียกกันเป็นทางการมาก่อนคำว่า “วัดตาเถรขึงหนัง” เสียอีก เมื่อเดิมทีผู้เขียนก็เข้าใจว่าวัด “ศรีพิจิตรฯ” นี้เขาคงมาเรียกชื่อกันใหม่ในสมัยนี้ เพราะอาจรำคาญชื่อ “วัดตาเถรขึงหนัง” มากกว่า แต่ก็หาใช่เช่นนั้นไม่ชื่อ “วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม” นี้กลับเรียกกันเป็นทางการมาตั้งแต่ครั้งสร้างวัดเสร็จใหม่ๆ ตั้งแต่เมื่อพ.ศ.1946 ของสมัยโน้นกันแล้วครับ!

พระ “นางพญาเสน่ห์จันทน์” เผยโฉม!

การบูรณะโบราณสถานเมื่อ พ.ศ.2502 ที่ “วัดตาเถรขึงหนัง” นั้น เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ขุดพบกรุพระเข้าโดยบังเอิญ และได้สร้างความมหัศจรรย์แก่ผู้อยู่ ณ ที่นั้นยิ่งนัก เพราะเมื่อกรุนั้นถูกเปิดออก หลายคนทีเดียวก็ต้องถึงกับตะลึงงันอยู่กับที่ ด้วยปรากฏว่าภายในกรุ ได้มีกลิ่นหอมอย่างประหลาดโชยอบอวลหอมฟุ้งไปทั่วบริเวณนั้น (เข้าใจว่าก่อนปิดกรุเมื่อสมัยนั้นคงประพรมน้ำอบแป้งหอมกระแจะจันทน์ไว้อย่างมาก กลิ่นนั้นจึงได้อบอวลจนกระทั่งจนปัจจุบัน) จากกลิ่นจรุงใจนี้เอง ยังได้รวมทั้งพระเครื่องที่พบครั้งนั้นก็พลอยมีกลิ่นหอมไปทุกองค์ด้วย

แหละก็ด้วยเหตุนี้กระมัง พระพิมพ์หนึ่ง ซึ่งงามประทับใจที่สุดของกรุนี้ จึงได้ถูกขนานนามต่อมาว่า “พระนางพญาเสน่ห์จันทน์” ซึ่งเป็นพระเครื่องศิลปะสุโขทัยที่งดงามมากอีกพิมพ์หนึ่ง โดยบัดนี้ได้เป็นของหายากและแพงไปแล้ว

พระเครื่องซึ่งพบจากกรุวัดตาเถรขึงหนังครั้งนั้น นอกจากพระนางพญาเสน่ห์จันทน์ ซึ่งมีลักษณะสามเหลียมหน้าจั่ว สูงประมาณ 3.2 ซ.ม. กว้าง 2.5 ซ.ม. นั้น เป็นพระเนื้อดินเผาได้ขึ้นจากกรุมาหลายร้อยองค์แล้ว นอกจากนั้นปรากฏว่ามีพิมพ์พระเชตุพน พระเปิดโลก และพระแผงอีกหลายแบบได้รวมอยู่ในกรุนี้ด้วย

ส่วนคำว่า “นางพญาเสน่ห์จันทน์” เราก็พอจะเดาได้ว่า คงเอาประสบการณ์วันเปิดกรุมาเป็นชื่อของพระซึ่งมีกลิ่นหอมที่โชยมานั้นก็ว่าได้ แต่ที่เรียกพระพิมพ์นี้เป็นพระ “นางพญา” นั้นก็เพราะเป็นพระนั่งที่มีลักษณะสามเหลี่ยมซึ่งจัดอยู่ในสกุลพระ “นางพญา” อีกองค์หนึ่งนั่นเอง ส่วนองค์ต้นสกุลก็คือ “พระนางพญา” กรุวัดนางพญาที่จังหวัดพิษณุโลก

พุทธลักษณะ สี และการตัดปีกข้าง

พระเครื่องพิมพ์ “นางพญาเสน่ห์จันทน์” พุทธลักษณะเป็นพระปางมารวิชัย นั่งขัดราบบนฐานเขียง อยู่ภายในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ลักษณะองค์พระค่อนข้างอวบอัด พระพักตร์ป้อมด้วยศิลปะแบบสุโขทัย รายละเอียดต่างๆ จะปรากฏอยู่กับพิมพ์นี้ไว้อย่างอลังการเต็มอิ่มและเพียบพร้อมด้วยอารมณ์ทีเดียว

“พระนางพญาเสน่ห์จันทน์” พระเครื่องซึ่งมีชื่ออันไพเราะประทับใจดังกล่าวนี้ จะมีแต่ชนิดที่สร้างเป็นเนื้อดินผสมว่านกับผงเกสรหอมเท่านั้น เนื้อค่อนข้างร่วนแก่ดินซึ่งมีทั้งกรวดทรายผสมอยู่ก็มาก (พระพิมพ์นี้จึงหักง่าย) พระบางองค์ยังมีคราบรักน้ำเกลี้ยงกับชาดทาทับไม้ไว้ก็มี สำหรับคราบที่ติดผิว (หมายถึงพระเครื่องที่ยังไม่ได้ผ่านการใช้) จะปรากฏฝ้าขาวนวลจับอยู่ตามซอกทั่วไปเกือบทุกองค์ และที่ด้านหลังขององค์พระส่วนมากจะมีลายมือประทับติดอยู่ด้วย

สำหรับสีของนางพญาเสน่ห์จันทน์ จะมีแต่เฉพาะสีเหลือง สีแดง สีเขียว และสีอมดำ เท่านั้น ส่วนขนาดกว้างยาวของพิมพ์นี้จะมีทั้งชนิดใหญ่และเล็ก ซึ่งความจริงแล้วองค์พระนางพญาเสน่ห์จันทน์จะมีขนาดเดียว การที่เป็นชนิดใหญ่และเล็กนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดปลีกให้กว้างจนดูใหญ่ หรือตัดปีกชิดจนดูเล็กไปเท่านั้นเอง แต่ถ้าดูองค์พระแล้วจะเท่ากันหมดทุกองค์ ในปี พ.ศ.2502 กรมศิลปากรได้เปิดกรุวัดพิจิตรฯ สุโขทัย ให้ประชาชนเช่าบูชาด้วยราคาถึงองค์ละ 60 บาท (ระยะเวลานั้นนับว่าเป็นราคาที่แพงมาก)

ปัจจุบันนี้พระนางพญาเสน่ห์จันทน์ หาใช่พระราคาถูกอย่างแต่ก่อนนั้นแล้วก็หาไม่ และนี่ก็คือหนึ่งในพระยอดนิยมของเมืองสุโขทัยอีกพิมพ์หนึ่ง ที่งดงามบริสุทธิ์และอิ่มในศิลปแบบสุโขทัยอย่างประทับใจแก่ผู้พบเห็นอยู่มิลืมเลือน