เหรียญพระแก้วมรกต ปี พ.ศ. 2475

พระเกจิ

ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ กรุงเทพมหานครฯ จะมีอายุครบ ๑๕๐ ปี ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้ทันกับการสมโภชกรุงเทพมหานครซึ่งจะมีอายุครบ ๑๕๐ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยโปรดเกล้าฯ ตั้งสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงเป็นประธานคณะกรรมการ

คณะกรรมการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้ประชุม และประมาณการด้านรายจ่ายที่จะต้องใช้ในการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้นไว้ประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชศรัทธา อุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คณะรัฐบาลได้อนุมัติเงินแผ่นดินสมทบทุนในการปฏิสังขรณ์ฯ อีก ๒๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับส่วนที่ยังขาดอีก ๒๐๐,๐๐๐ บาทนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯที่จะให้พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสที่จะบำเพ็ญกุศลร่วมกัน ดังนั้นคณะกรรมการปฏิสังขรณ์ฯจึงได้ดำเนินการเรี่ยไรโดยมีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดพนักงานรับเรี่ยไร พร้อมทั้งมีการโฆษณาประกาศบอกบุญตามใบปลิวที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจพิมพ์ถวายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ อนึ่ง ผู้ที่มีจิตศรัทธาบริจาคปัจจัยร่วมปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะได้รับใบเสร็จเป็นหลักฐานพร้อมเหรียญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

สำหรับผู้ที่บริจาคตั้งแต่ ๕ บาทขึ้นไปนั้น ตามประกาศระเบียบการรับเรี่ยไร การปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หอรัษฏากรพิพัฒน์ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๓) กล่าวว่า กรรมการจะได้รวบรวมรายนามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นคราว ๆ

ต่อมาปรากฏว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเหรียญที่ระลึกที่จะสมณาคุณตอบแทนสำหรับผู้บริจาคปัจจัยร่วมปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กล่าวคือตามใบแจ้งความของสำนักงานผู้อำนวยการวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ความว่า “…เหรียญที่ระลึกชุดนี้ได้สร้างก่อนการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งใหญ่และเนื่องจากประชาชนมีความศรัทธา จึงได้ให้หลายบริษัทช่วยกันผลิตเพื่อให้ทันความต้องการ คือ บริษัทเดอลารู เพาะช่าง นาถา จารุประกร สุวรรณประดิษฐ์ ฮั่งเตียนเซ้ง โดยผู้บริจาคเงิน จะได้รับเหรียญสมนาคุณตามลำดับ ดังนี้

๑) ผู้บริจาค ตั้งแต่ ๒,๐๐๐ บาทขึ้นไป ได้รับเหรียญทองคำ
๒) ผู้บริจาค ตั้งแต่ ๕๐๐ บาทขึ้นไป ได้รับเหรียญเงิน
๓) ผู้บริจาค ตั้งแต่ ๒๐๐ บาทขึ้นไป ได้รับเหรียญนิเกิล
๔) ผู้บริจาค ตั้งแต่ ๑๐๐ บาทขึ้นไป ได้รับเหรียญทองแดง
ปัจจุบัน เหรียญพระแก้วมรกต ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นที่นิยมแต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า

๑) เหรียญพระแก้วมรกต ทองคำ สนนราคาแพงมาก
๒) เหรียญพระแก้วมรกต ด้านหลังที่พิมพ์ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ค่อนข้างจะได้รับนิยมมากกว่าเหรียญพระแก้ว มรกตที่มีด้านหลังเป็นยันต์กงจักรและระบุชื่อบริษัท
ก่อนจะจบประวัติเหรียญพระแก้วมรกตนี้ ใคร่ที่จะใหข้อคิดกับท่านว่า เหรียญพระแก้วมรกต ไม่ว่าจะเป็นทองคำ เงิน นิเกิล ทองแดง ผ่านพิธีเดียวกันฉะนั้นพุทธคุณก็ย่อมดีเหมือนกัน ส่วนผู้ใดจะศรัทธาชนิดใดก็ขอให้ท่านใคร่ครวญดูเอาเองและระวังของปลอมให้ดี

(บทความนี้ได้คัดลอกมาจากหนังสือของ คุณ สมชาย พุ่มสะอาด จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้)