พระสมเด็จอรหัง วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร

พระเบญจภาคี

ก่อนกำเนิดพระเครื่อง พิมพ์สมเด็จวัดระฆังฯ นั้น พระสมเด็จอรหัง นับว่าเป็นยอดพระเครื่อง ต้นสกุลพระ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือ แบบชิ้นฟัก มาก่อนนานแล้วผู้ริเริ่มพระเครื่องที่เรียกเราเรียกกันจนติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า พระสมเด็จฯ และเป็นผู้สร้างพระสมเด็จ อรหัง ด้วยนั้นก็คือ

สมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่เถื่อน

พระสมเด็จพระสังฆราช หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า พระสังฆราชไก่เถื่อน นี้นับเป็นพระอาจารย์ผู้ยิ่งยงในวิทยาคมด้านเมตตามหานิยมผู้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี และยังเป็นพระบรมราชาจารย์ของล้นเกล้าฯ ในรัชกาลที่ 2, ที่3 และที่4 อีกด้วย

พระสังฆราชญาณสังวร สุก ไก่เถื่อน ผู้ให้กำเนิดต้นสกุล พระพิมพ์สมเด็จ องค์นี้ ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน 2 ขึ้น 10 ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช 1095 หรือ พ.ศ. 2276 ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา ในรัชกาลของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ท่านเป็นชาวกรุงเก่าชื่อ สุก และเข้าใจว่าก่อนถึงอายุ 34 ปี คือ พ.ศ. 2310 ซึ่งเป็นระยะที่กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งสุดท้ายนั้น ท่านได้บวชมาก่อนแล้วหลายพรรษา จนปรากฏชัดจากพงศาวดารว่า ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่ วัดท่าหอย เมื่อสมัยกรุงธนบุรี นี่เอง

พระอาจารย์สุก หรือ พระญาณสังวรเถระ หรือ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 ของราชวงศ์จักรีนี้ นับว่าเป็นผู้หนึ่งที่ยืนดูการกระทำอันโหดร้ายของพม่าเมื่อคราวกรุงแตกมาแล้ว เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้อาราธนาลงมาอยู่ที่วัดราชสิทารามนั้น ก็เห็นจะเป็นด้วย

– พระองค์ประสูติ เมื่อ พ.ศ. 2279 ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์เช่นกัน

นับแต่พระองค์ได้รับราชการเมื่อปลายสมัยอยุธยาจนกรุงแตกแล้วนั้น ก็ได้ทราบถึงเกียรติคุณของ พระอาจารย์สุก มาบ้างแล้ว จึงได้อาราธนาท่านลงมาอยู่ที่วัดพลับเมื่อประมาณ พ.ศ. 2325

สมเด็จพระสังฆราช ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2363 ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น 2 ค่ำปีมะโรง และได้ย้ายจากวัดพลับมาอยู่ที่วัดมหาธาตุได้เพียงปีเศษก็สิ้นพระชนม์ ณ วัดมหาธาตุ พระนคร เมื่อวันศุกร์เดือน 10 แรม 4 ค่ำ ปีมะเมีย ในรัชกาลของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงนับว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์เดียว ที่ได้เห็นเหตุการณ์พม่าเผากรุงศรีอยุธยาและผนวชอยู่ในพระบวรพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยอยุธยา, สมัยกรุงธนบุรี, จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์, รวมพระชนมายุได้ถึง 90 ปี

พระญาณสังวร สุก ไก่เถื่อน ระหว่างอยู่ที่วัดราชสิทธารามนั้น ปรากฏว่าได้เป็นที่นับถือของชาวบ้านตลอดขึ้นไปจนถึงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ต่างก็พากันไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เห็นจะเป็นเพราะบรรดาสานุศิษย์เหล่านั้นต่างก็ได้เห็นกฤตยาคมอันขลังด้านเมตตาพรหมวิหารของท่าน ซึ่งสามารถเรียก ไก่เถื่อน จากป่าเป็นฝูง ๆ มากรับการโปรยทานจากท่านเต็มลานวัดทุก ๆ วันนั้นเอง

เหตุนี้ชาวบ้านสมัยนั้นจึงพากันเรียกท่านว่า พระสังฆราชไก่เถื่อน เพราะท่านสามารถเรียกไก่เถื่อนออกมาจากป่าด้วยแรงอาคม และยิ่งได้ลิ้มรสอาหารเสกจากท่านด้วยแล้ว ไก่เถื่อนที่ว่าถึงกับไม่ยอมกลับเข้าป่า และเชื่องเป็นไก่บ้านไปเลย การกำเนิดพระสมเด็จ อรหัง

นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงโปรดให้พระอาจารย์สุกหรือพระญาณสังวรเถระ มาอยู่ที่วัดราชสิทธารามหรือวัดพลับ ที่ อ. บางกอกใหญ่ นครหลวงฝั่งธนบุรี แล้ว ต่อมาวัดนี้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ การทรงผนวชของพระราชวงศ์แต่ละพระองค์นั้น ภายหลังมักจะเสด็จไปศึกษาวิปัสสนา ที่สำนักพระญาณสังวร ณ วัดราชสิทธารามอยู่เสมอ เช่นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น พระญาณสังวร สุก ไก่เถื่อน ก็ได้เป็นพระบรมราชาจารย์ของพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์นี้ด้วย

จากการที่สมเด็จฯ ท่านยิ่งใหญ่ด้านอาคมขลังจนเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วนั้นจะเป็นด้วยทนการวิงวอนจากบรรดาสานุศิษย์หรือผู้คนที่นับถือท่านมากราย อยากจะได้พระเครื่องของท่านไว้คุ้มครองบ้างก็ได้ ด้วยเหตุนี้เอง, พระเครื่องพิมพ์สี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบชิ้นฟัก ซึ่งสร้างด้วยผงวิเศษสีขาวนั้น สมเด็จพระสังฆราชองค์นี้ จึงได้ให้กำเนิดพระสมเด็จดังกล่าวนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2360

เล่ากันว่า พระสมเด็จอรหัง ที่สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อนได้เริ่มสร้างเป็นครั้งแรกนั้น ท่านยังดำรงตำแหน่งเป็นพระราชาคณะอยู่ที่วัดพลับ พระเครื่องพิมพ์สมเด็จฯส่วนหนึ่งเมื่อได้รับการปลุกเสกแล้ว ท่านก็แจกจ่ายให้ไปบูชากันโดยถ้วนทั่วและเป็นที่เข้าใจกันว่า พระสมเด็จอรหัง พิมพ์ปฐมฤกษ์นั้นก็คือ พิมพ์ เกศเปลวเพลิง ซึ่งด้านหลังจะไม่ปรากฏมีอักขระคำว่า อรหัง จารึกลงไว้เลย

สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน ท่านได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยการสร้างพระพิมพ์สมเด็จอรหังต่อมาอีก มีหลายพิมพ์ที่เสร็จแล้วท่านก็แจกสานุศิษย์ต่อไปโดยมิได้ลงกรุ แต่พระอีกจำนวนหนึ่งนั้น เมื่อท่านได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และได้ย้ายมาอยู่ที่วัดมหาธาตุแล้ว ก็เข้าใจว่าพระสมเด็จอรหังส่วนหลังนั้น ท่านคงได้นำมาบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดมหาธาตุแห่งนี้ไว้เป็นจำนวนมากทีเดียว

พุทธลักษณะ, เนื้อ,และพิมพ์

พระสมเด็จอรหัง ของสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อนนี้ เท่านี้ปรากฏอยู่ในวงการพระเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว จะแยกแบบออกได้ถึง 5 พิมพ์ ด้วยกันดังนี้

1. สมเด็จอรหัง พิมพ์สังฆาฏิ เป็นพระเนื้อผงสีขาวที่นิยมกันมากมีขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. ครึ่ง พุทธลักษณะเป็นพระปางสมาธิประทับนั่งบนฐาน 3 ชั้น เห็นชายสังฆาฏิห้อยชัดเจนทุกองค์ ด้านขอบข้างองค์พระจะถูกอัดออกมาตามแบบแม่พิมพ์โดยไม่มีการตัดด้วยเส้นตอกเลย และโปรดสังเกตการประทับนั่ง เข่าจะแคบและตรง ส่วนด้านหลังจะปรากฏอักขระคำว่า อรหัง จารึกไว้ด้วย พระสมเด็จพิมพ์นี้แยกออกเป็น 2 แบบ คือ 1. แบบเศียรโต และ 2. แบบเศียรเล็ก

2. พระสมเด็จอรหัง พิมพ์ฐานคู่ เป็นพระเนื้อผงสีขาว เข่ากว้างและโค้งกว่าพระพิมพ์สังฆาฏิ โดยเฉพาะฐานสร้างเป็นเส้นเล็กคู่ นอกจากนั้นทั้งขนาด, ขอบด้านข้าง, และหลัง คงเหมือนกับ พิมพ์สังฆาฏิ ทุกอย่าง

3. พระสมเด็จอรหัง พิมพ์เกศเปลวเพลิง นี่เป็นอีกพิมพ์หนึ่งซึ่งนอกจากจะมีน้อยแล้ว แม้จะหาชมก็ยากนัก พระพิมพ์นี้ทั้งความงามและขนาดจะเหมือนกับ พิมพ์สังฆาฏิ มีเพี้ยนอยู่บ้างก็ตรงที่มีเกศขมวดม้วนเป็นตัว อุ และรูปทรงค่อนข้างชะลูด ส่วนฐานประทับถึงแม้จะเป็นแบบ 3 ชั้น แต่ก็หนาวกว่ากันมาก พระพิมพ์นี้เป็นพระเนื้อผงสีขาว ด้านหลังเป็นแบบราบโดยไม่มีอักขระขอมปรากฏให้เห็นเลย ส่วนขนาดจะเท่ากับพิมพ์แรก ๆ

4. พระสมเด็จอรหัง พิมพ์โต๊ะกัง ขนาดพระพิมพ์นี้จะเท่ากับ 3 พิมพ์แรกสัญลักษณ์ที่ควรจดจำกับพระสมเด็จพิมพ์โต๊ะกัง นี้ได้ง่าย ๆ ก็คือ เป็นพระผงผสมว่านเนื้อออกสีแดงคล้าย ปูนแห้ง แม้ค่อนข้างหย่อนงามไปบ้าง แต่ก็เป็นอีกพิมพ์หนึ่งที่หาชมได้ยาก ด้านหลังของพระพิมพ์นี้จะถูกปั๊มลึก ปรากฏเป็นอักขระคำว่า อรหัง นูนขึ้นมา ผิดกับ 3 พิมพ์แรกซึ่งถูกจารึกบุ๋มลงไปด้วยการจารึกเส้นเล็ก ๆ ด้วยมือตอนเนื้อพระยังไม่แห้ง

5. พระสมเด็จอรหัง พิมพ์เล็ก พระพิมพ์นี้จะมีขนาดสูงเพียง 2.3 ซ.ม. เท่านั้น เป็นพระเนื้อผงสีขาว ซึ่งมีพุทธลักษณะเหมือนเช่นกับทุก ๆ พิมพ์ที่กล่าวไปแล้ว หากแต่ได้เพิ่มประภามณฑลล้อมรอบเศียรขึ้นมาอีกแบบเท่านั้นเอง นับว่าเป็นพระอีกพิมพ์หนึ่งที่หาชมได้ยากพอ ๆ กับพิมพ์เกศเปลวเพลิงทีเดียวสำหรับด้านหลังจะลงจารึกคำว่า อะระหัง ไว้ด้วยเช่นกัน

พระสมเด็จอรหัง มีสองกรุ

พระสมเด็จอรหังทั้ง 5 พิมพ์ ดังได้กล่าวไปแล้วนั้น บางพิมพ์ตรงกัน แต่เนื้อกลับไม่เหมือนกัน หรือบางพิมพ์จารึกที่ลงไว้ด้านหลังกลับเป็นอักขระเล็กบ้าง, ใหญ่บ้าง, โดยไม่เท่ากันนั้น ก็เพราะพระสมเด็จอรหังนี้ มีแยกออกเป็น 2 กรุดังจะกล่าวไว้พอเป็นสังเขปดังนี้

1. พระสมเด็จอรหัง กรุวัดมหาธาตุ กล่าวกันว่ามีผู้พบพระเพียง 3 พิมพ์เท่านั้น คือ 1. พิมพ์สังฆาฏิ 2. พิมพ์ฐานคู่ 3. พิมพ์เล็ก โดยจะเป็นพระเนื้อผงสีขาวทั้งหมดส่วนพิมพ์เกศเปลวเพลิงนั้น ต่างก็พูดกันว่า เป็นพระเครื่องพิมพ์แรกที่สมเด็จท่านอาจทำเป็นการทดลอง และได้แจกจ่ายไปก่อนแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่ที่วัดพลับก็ว่าได้ พระสมเด็จกรุวัดมหาธาตุนี้ โดยทางเนื้อจะละเอียดขาวและมีความแน่นตัวมาก พระทุก ๆ องค์หากมิได้ใช้ หรือเมื่ออกจากกรุใหม่ ๆ จะมีฝ้าคราบขาวนวลหุ้มติดอยู่ทุกองค์บางองค์ก็ปิดทองล่องชาด และบางองค์ถึงกับเนื้องอกแบบพระวัดพลับก็มี ส่วนด้านหลังอักขระที่จารึกไว้นั้น ตัวอักษรจะเท่ากัน และค่อนข้างใหญ่กว่าของกรุวัดสร้อยทองอีกเล็กน้อย

2. พระสมเด็จอรหัง กรุวัดสร้อยทอง พระสมเด็จกรุนี้ได้มีผู้พบภายหลังจากกรุวัดมหาธาตุ ได้เผยโฉมออกมาแล้ว พระที่พบคือสมเด็จอรหังพิมพ์สังฆาฏิ, พิมพ์โต๊ะกัง, และพิมพ์ฐานคู่ ซึ่งเป็นพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด พิมพ์แรกจะเห็นชายสังฆาฏิชัดเจน เช่นเดียวกับกรุวัดมหาธาตุแต่เนื้อจะหยาบกว่า แก่ผงเกสรดอกไม้และมีทรายปนอยู่ด้วย ส่วน พิมพ์โต๊ะกัง เป็นพระเนื้อสีแดง มีคราบกรุจับนวลขาวทั่วไป ตราปั๊มด้านหลังจะปรากฏแบบลึกนูนขึ้นมาชัดเจนอ่านง่าย ส่วนพิมพ์เล็กไม่ปรากฏพบอยู่ในกรุนี้เลย

เรื่องสมเด็จอรหังกรุวัดสร้อยทองนี้ บางท่านก็ว่าสมเด็จพระสังฆราชสุก ท่านได้สร้างให้กับวัดนี้ไว้ แต่พระภิกษุผู้ชราชื่อ แพร ซึ่งอยู่ที่วัดสร้อยทอง ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า… พระสมเด็จกรุนี้ ความจริงแล้ว ผู้สร้างคือพระอาจารย์ กุย ซึ่งเป็นศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อนอีกองค์หนึ่ง ท่านได้สร้างไว้โดยใช้แม่พิมพ์เดิม แต่เนื้อและการลงจารึกด้านหลังจะเล็กผิดกว่ากันมาก

ส่วนเรื่องพระสมเด็จอรหัง พิมพ์โต๊ะกัง นั้นเข้าใจว่าได้มีชาวจีนสร้างเป็นกุศลร่วมลงกรุไว้ที่วัดสร้อยทอง พระพิมพ์นี้จึงมีสีแดง สีแห่งความรุ่งโรจน์ ซึ่งชาวจีนนิยมกันมาก และที่เรียกว่า พิมพ์โต๊ะกัง ก็เห็นจะเป็นเพราะตราด้านหลังคำว่า อรหัง ซึ่งโดยปกติแล้ว จะใช้เหล็กแหลมเขียน แต่พระสมเด็จอรหังสีแดงพิมพ์นี้กลับใช้ตราปั๊มลึกนูน โดยตัวอักขระหนังสือจะนูนขึ้นมาเหมือนกับตราปั๊มของร้านทอง ตั้งโต๊ะกัง ที่ปั๊มติดกับสร้อย เลยเป็นเหตุให้นักเลงพระยุคนั้นเห็นดีเห็นชอบเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่า พระสมเด็จอรหัง พิมพ์โต๊ะกัง ตั้งแต่นั้นมา

เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าคุณจะมีพระสมเด็จอรหังพิมพ์โต๊ะกังหรือไม่โต๊ะกังก็ตามที ขอให้มีพระองค์พอสวยก็แล้วกัน ถ้าไม่พูดถึงพระพุทธคุณท่านเด็ดในทางมหานิยมอยู่แล้ว ผมขอรับรองว่าคุณ ๆ ที่มีพระพิมพ์นี้ไว้จะยืน ยิ้มแบบโต๊ะกัง ได้อย่างสบายมาก เพราะขณะนี้เขาเสนอราคาเช่ากันองค์ละใกล้แสนหรืออาจจะเลยแสนไปแล้วก็ว่าได้

พุทธคุณของพระสมเด็จอรหัง

สำหรับเรื่องพุทธคุณการใช้จากผู้ได้ประสบการณ์กับพระสมเด็จพิมพ์นี้มาแล้วนั้นถึงแม้ว่าจะไม่ดังกระฉ่อนเช่นพระสมเด็จวัดระฆังฯ หรือสมเด็จบางขุนพรหมก็ตาม ได้มีนักเผชิญโชคผู้ได้มีประสบการณ์อันมหัศจรรย์จากพระสมเด็จอรหังมาแล้ว ถึงกับตื่นตะลึงและหวงแหนกันยิ่งนัก เพราะพระสมเด็จพิมพ์นี้ดีทางเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดเหมือนเช่นพระสมเด็จวัดระฆังฯทุกอย่าง ยกเว้นพระสมเด็จอรหังสีแดงเท่านั้นซึ่งนอกจากจะมีมหานิยมแล้วยังเพิ่มด้านกระพันชาตรีไว้อีกทางหนึ่งด้วย

เพื่อให้เรื่องพระสมเด็จอรหัง ยอดพระ ต้นสกุลพระสมเด็จ ของ สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน ได้จบลงอย่างสมบูรณ์ ต่อไปนี้ผมจึงขอเสนอเรื่องราวตอนหนึ่งที่คุณ เฉลิม แก้วสีรุ้ง ซึ่งเป็นชาวนนทบุรี ได้เผชิญกับอิทธิปาฏิหาริย์จากพพระสมเด็จอรหังจนถึงกับตะลึงงันอยู่กับที่มาแล้ว เป็นเรื่องทิ้งท้ายไว้ดังต่อไปนี้…

เรื่องก็มีอยู่ว่า เมื่อ พ.ศ. 2508 คุณเฉลิมมีอาชีพรับซื้อขายผลไม้เป็นประจำอยู่ที่เมืองนนท์ วันหนึ่งมีชาวสวนข้างบ้านมาบอกจะขายทุเรียนส่วนหนึ่งให้ และขอร้องให้ไปดูด่วนด้วย คุณเฉลิมรักทุเรียนมากจนลืมลั่นกุญแจบ้าน และลืมจนกระทั่ง พระสมเด็จอรหัง พร้อมด้วยสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท กับกระเป๋าเงินซึ่งมีเงินอยู่ในนั้นถึงแปดพันบาทด้วย

คุณเฉลิมมานึกขึ้นได้ก็เหตุการณ์ได้ผ่านไปแล้วถึง 3 ชั่วโมง เขาจึงรีบกลับบ้านทันทีแต่ก็ต้องถึงกับตะลึงงันอยู่กับที่เมื่อมาถึงบ้าน เพราะขณะนั้นประตูบ้านได้เปิดอ้า ข้าวของในบ้านถูกรื้อกระจัดกระจายเกลื่อน เสื้อผ้าส่วนหนึ่งและเข็มขัดนาคของภรรยาเขาได้ถูกคนร้ายลักไป แต่…คุณพระช่วย ครับ, คุณพระได้ช่วยคุณเฉลิมไว้อย่างปาฏิหาริย์จริง ๆ ด้วย ที่ว่าปาฏิหาริย์ก็เพราะทั้งสร้อยคอรวมทั้งพระและเงินอีกแปดพันบาท ที่กองอยู่หน้าโต๊ะเครื่องแป้งอย่างชนิดที่ใครโผล่เข้าไปในบ้านก็ต้องมองเห็นได้อย่างถนัดตาทีเดียวนั้น ของดังกล่าวยังคงอยู่ ณ ที่นั้นโดยไม่มีใครมาขยับไปไหนเลย

เรื่องนี้คุณเฉลิมบอกกับผู้เขียนว่า นั่นคือผลแห่งการแคล้วคลาด อันเกิดจากอิทธิปฏิหาริย์ของพระสมเด็จอรหังได้พรางตาคนร้ายไว้แน่ ๆ หรือถ้าใครว่าไม่แน่ละก้อคนร้ายกลุ่มนั้นก็คงจะตาบอดเท่านั้นเอง

คุณเฉลิมบอกว่า ขณะนี้ผมได้ย้ายบ้านและเป็นเจ้าของสวนลำไยอยู่ที่เชียงใหม่แล้วสาเหตุที่ได้เปลี่ยนอาชีพจนพอจะมีกินกับเขาบ้างแล้วนี้ ก็เรื่อง พระสมเด็จอรหัง ท่านช่วยผมอีกเหมือนกัน ผมได้อาราธนาบูชาขอโชคลาภท่านเพื่อขอทุนไปซื้อลำไย ด้วยการไปซื้อลอตเตอรี่ที่จังหวัด 2 ใบ คุณเฉลิมยืนยันว่าไม่ชอบและไม่เคยซื้อกับเขาเลย นอกจากครั้งนี้เท่านั้น พอถึงเวลาหวยออก ทั้งเขาและภรรยาดีใจจนแทบเป็นลมเป็นแล้งเอาทีเดียวทั้งนี้ก็เพราะสลากลอตเตอรี่ทั้ง 2 ใบนั้น ใบแรกถูกรางวัลที่ 3 และอีกใบหนึ่งก็ถูกเลขท้าย 3 ตัวด้วย

นี่คือเรื่องราวที่คุณเฉลม แก้วสีรุ้ง ได้เล่าให้กับผู้เขียนฟังเมื่อ พ.ศ. 2512 ซึ่งขณะนั้นเขาและครอบครัวได้ครองเรือนกันอย่างผาสุขด้วยฐานะที่มั่นคงพอสมควรแล้ว และสิ่งเดียวที่ไม่มีใครมาพรากจากคอเขาได้เลยคือ พระสมเด็จอรหัง เนื้อผงสีขาวองค์เดียวที่เขารักหวงแหนราวกับชีวิตติดตัวเขาอยู่ตลอดเวลาทีเดียว

เดี๋ยวนี้เราก็รู้แล้วว่า พระสมเด็จอรหัง นอกจากผู้สร้างจะเป็นสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระบรมราชาจารย์ของในหลวงทั้ง 3 พระองค์แล้ว ยังเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ อีกด้วย และสำหรับด้านพระเครื่องฯ พระสมเด็จอรหัง ก็คือพระต้นสกุลพระสมเด็จทั้งหมด อันเปรียบได้ดั่ง จักรพรรดิพระสมเด็จ ซึ่งเปี่ยมด้วยพุทธาคมมนต์ขลังด้านมหานิยมและแคล้วคลาด จากสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน ผู้เลี้ยงไก่ป่าให้เชื่องได้ดังไก่บ้านไว้เต็มลานนั่นเอง

อาจารย์ ประชุม กาญจนวัฒน์