พลตรี จำลอง ศรีเมือง | ประวัติส่วนตัว – ข่าวล่าสุด – ข้อมูลล่าสุด

+ประวัติบุคคล

พลตรี จำลอง ศรีเมือง เกิดวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 ที่ย่านสำเหร่ จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันเป็นแขวงสำเหร่ เขตธนบุรี)

บิดามีอาชีพค้าปลาสดชื่อ สมนึก ชุณรัตน์ ส่วนมารดาชื่อ บุญเรือน ประกอบอาชีพแม่ค้าเร่ ตั้งแต่ พล.ต.จำลองยังแบเบาะบิดาได้เสียชีวิตลง และต่อมามารดาได้สมรสใหม่กับ โชศน์ ศรีเมือง ซึ่งเป็นที่มาของนามสกุล ศรีเมือง ที่ พล.ต.จำลองใช้ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

จำลองนั้นเดิมมีชื่อเล่นว่า “หนู” แต่พอเข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ก็ถูกเพื่อนฝูงตั้งให้ใหม่ว่า “จ๋ำ” ขณะที่ชื่อ “ลอง” นั้น เป็นชื่อเล่นที่คนอื่น ๆ ทั่วไปมักใช้เรียกขาน ส่วนที่มีคำว่า “มหา” เรียกก่อหน้าชื่อ เพราะ พล.ต.จำลองเป็นผู้ที่รู้จักกันดีว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม เมื่อครั้งอุปสมบทก็ศึกษาทางธรรมอย่างจริงจัง และเคยออกมาระบุว่าตนเองปฏิบัติตนสมถะ นอนไม้กระดานแผ่นเดียว แม้แต่การอาบน้ำก็จะใช้น้ำเพียง 5 ขัน จึงได้ฉายาว่า “มหา 5 ขัน” และมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ คือ สวมเสื้อม่อฮ่อมเป็นประจำ โดยสวมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2522 และไว้ผมสั้นเกรียน

ชีวิตส่วนตัว สมรสกับ พ.ต.หญิง ศิริลักษณ์ เขียวละออ โดยที่ไม่มีบุตรด้วยกัน ภายหลังได้ร่วมกันทำกิจกรรมสังคมหลาย ๆ อย่าง ทั้งด้านการปฏิบัติธรรม เรื่องการกินอาหารมังสวิรัติ ดูแลสุนัขจรจัด รวมถึงจัดตั้งโรงเรียนผู้นำ และ จำลอง เป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีว่ามีความใกล้ชิดและเป็นสมาชิกคนสำคัญของสำนักสันติอโศก

การศึกษา
หลังเรียนจบชั้น ม.6 จำลอง จึงตัดสินใจเลือกเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมนายร้อยที่สอบได้ และจบ จปร.รุ่น 7/2 เนื่องจากสมัยเป็นนักเรียนนายร้อย นรต.จำลอง กับพวกไปจัดฉายภาพยนตร์หารายได้ซื้ออุปกรณ์กีฬาและดนตรีเข้าสโมสรนักเรียนนายร้อย แต่การกระทำดังกล่าวไปผิดในข้อหาขัดคำสั่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งขณะนั้นคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก จึงถูกปลดจากหัวหน้านักเรียนนายร้อยเป็นนักเรียนลูกแถว และถูกลงโทษให้รับกระบี่ช้าออกไป ไม่พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่นๆ

วีรบุรุษภูผาที
หลังจากจบการศึกษาแล้ว ใน พ.ศ. 2511 ระหว่างสงครามเวียดนาม จำลองในขณะมียศ ร้อยเอก (ร.อ.) สังกัดเหล่าทหารสื่อสาร ได้เข้าไปปฏิบัติการพิเศษในประเทศลาว ณ ยุทธภูมิภูผาที ในชื่อรหัสว่า “โยธิน” มีวีรกรรมในการป้องกันสถานีเรดาห์จากการยึดครองของคอมมิวนิสต์จนได้รับฉายาว่า “วีรบุรุษภูผาที”

ชีวิตนักการเมือง

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
จำลอง เริ่มชีวิตทางการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2522 โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปรม ติณสูลานนท์ ต่อมาได้ขอลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไขกฎหมายทำแท้ง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
จำลอง มีชื่อเสียงโดดเด่นขึ้นมาหลังจากลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2528 เบอร์ 8 ในนาม “กลุ่มรวมพลัง” โดยชนะได้รับคะแนนเสียง 408,233 คะแนน ถึงขนาดที่วงคาราบาว แต่งเพลงให้ชื่อ “มหาจำลองรุ่น 7” การชนะการเลือกตั้งในสมัยนั้นทำให้ท่านได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนแรกที่เกิดในระบอบประชาธิปไตยที่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครก่อนผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่เกิดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองท่านอื่นๆ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2531 จึงก่อตั้ง พรรคพลังธรรม ขึ้น โดยสื่อมักเรียกขานกันว่าเป็น “พรรคพลังผัก” เนื่องจากสนับสนุนให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินอาหารมังสวิรัติ กระแสความนิยมในตัว พล.ต.จำลองในฐานะนักการเมืองผู้สมถะ พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นกระแส “จำลองฟีเวอร์” และเรียกกันติดปากว่า “มหาจำลอง” ชนะการเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่า ฯ อีกสมัยในปี พ.ศ. 2533 โดยได้รับคะแนนท่วมท้นถึง 703,671 คะแนน ทิ้งห่างผู้สมัครจากพรรคประชากรไทยคือ นายเดโช สวนานนท์ ถึง 419,894 คะแนน แต่ก่อนที่จะครบวาระ 4 ปี ก็ลาออก และผันตัวเองสู่สนามเลือกตั้งระดับชาติ

พฤษภาทมิฬ
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคพลังธรรมได้รับคะแนนความนิยมสูงสุดในพื้นที่กรุงเทพ ฯ โดยสามารถกวาดที่นั่งได้ถึง 32 ที่นั่งจาก 35 ที่นั่ง และเมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จำลอง เป็นแกนนำคนสำคัญในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล สุจินดา คราประยูร โดยถูกจับกุมตัวกลางที่ชุมนุมเมื่อบ่ายวันทื่ 18 พฤษภาคม และในวันที่ 20 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้บุคคลทั้งสองเข้าเฝ้า โดยมีพระราชดำรัสสำคัญถึงการต่อสู้กันรังแต่จะทำให้บ้านเมืองพินาศ หลังจากนั้น จำลอง ก็ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งทางการเมืองตามที่เคยได้ให้สัญญาไว้เมื่อครั้งชุมนุม ซึ่งหลังจากนี้ได้มีกระแสเสียงกล่าวหาว่า “จำลองพาคนไปตาย” จากฝ่ายตรงข้าม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ.ศ. 2532 – Order of the White Elephant – Special Class (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

พ.ศ. 2530 – Order of the Crown of Thailand – Special Class (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)

พ.ศ. 2512 – Border Service Medal (Thailand) ribbon.svg เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)

พ.ศ. 2515 – Chakra Mala Medal (Thailand) ribbon.svg เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)

ข้อมูลอ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/จำลอง_ศรีเมือง