มาดูผลโพล ความเห็นคนไทย กรณี “เราจะเปิดให้ต่างชาติเข้าประเทศหรือไม่”

ข่าวด่วนเกาะกระแส

1.วันที่ 12 ก.ค.63 “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เราจะเปิดให้ต่างชาติเข้าประเทศหรือไม่” โดยทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง

2.การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0

3.จากการสำรวจที่ถามถึงการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทย (ที่ไม่ใช่โรคโควิด-19) และต้องถูกกักตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน ก่อนได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับบ้านได้ใน โครงการ Medical and Wellness Program พบว่า
-ร้อยละ 23.10 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะทำให้การแพทย์ของไทยมีชื่อเสียง มีความน่าเชื่อถือ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ
-ร้อยละ 21.58 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะประเทศไทยมีมาตรการที่ดีในการควบคุมโรคโควิด-19 เป็นการเเสดงศักยภาพของบุคลากรทางการเเพทย์ของไทยให้ทั่วโลกได้เห็นและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
-ร้อยละ 13.91 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะไม่เชื่อว่าปลอดภัยกลัวคนต่างชาตินำเชื้อเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยและสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวยให้คนต่างชาติเข้ามา ถึงเเม้จะมีใบรับรองก็ตาม
-ร้อยละ 41.41 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะคนไทยที่กลับจากต่างประเทศก็ติดโรคและรักษาตัวอยู่เยอะมากแล้วและกลัวคนต่างชาตินำเชื้อเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ทำให้เกิดโควิด-19 รอบ 2 ได้

4.เมื่อถามถึงการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาเพื่อรักษาพยาบาล (ที่ไม่ใช่โรคโควิด-19) และต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ก่อนอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวในไทยได้ใน โครงการท่องเที่ยวสุขภาพดีวิถีใหม่ พบว่า
-ร้อยละ 24.14 ระบุว่า เห็นด้วยมากเพราะเป็นการช่วยเหลือ ฟื้นฟูการท่องเที่ยวในไทยให้มีรายได้เหมือนเดิม และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
-ร้อยละ 23.26 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะมั่นใจการรักษาของแพทย์ในประเทศไทย เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย และมีเงินหมุนเวียนเข้าประเทศ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
-ร้อยละ 14.55 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะกลัวเกิดการแพร่ระบาด โรคโควิด-19 รอบ 2 ขึ้น เนื่องจากโรคโควิด-19 มักมาจากต่างชาติ
-ร้อยละ 37.89 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะอยากให้โรคโควิด-19 หมดไปก่อน 100% ถึงแม้จะมีการกักตัว 14 วัน ก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดโรคโควิด-19 ขึ้น กลัวเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ขึ้น
-ร้อยละ 0.16 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

5.เมื่อถามถึงการที่จะอนุญาตให้คนต่างชาติจากประเทศที่ปลอดเชื้อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้ใน โครงการทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) นั้น พบว่า
-ร้อยละ 25.90 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ด้านการบินจะได้ไม่หยุดชะงัก และประเทศไทยต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
-ร้อยละ 28.46 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะมีเงินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มมากขึ้น เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และนักท่องเที่ยวที่มาอยากให้จัดเป็นกลุ่มเพื่อการดูแลและควบคุมได้ง่าย
-ร้อยละ 14.95 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะกลัวเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ขึ้น เนื่องจากกว่าจะแสดงอาการค่อนข้างมีเวลานาน และไม่เชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวที่มาจะปลอดภัยจากโควิด 19 จริง
– ร้อยละ 29.65 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะไม่เชื่อมั่นในตัวนักท่องเที่ยว ถึงจะเป็นประเทศปลอดเชื้อก็ตาม กลัวนำโรคเข้ามาในไทย และทำให้เกิดการแพร่ระบาดในไทยรอบ 2 ได้
-ร้อยละ 1.04 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ

6.เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลในการควบคุมไม่ให้มีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศได้ หากมีการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ตามโครงการต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐนั้น พบว่า
-ร้อยละ 15.43 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก เพราะมั่นใจการทำการของรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมคนต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยได้และการแพทย์ของไทยมีความน่าเชื่อถือ
-ร้อยละ 23.90 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะดูจากผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาลว่าสามารถควบคุมได้และรัฐบาลน่าจะมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมไม่ให้โควิด-19 ระบาดในไทยรอบ 2
-ร้อยละ 30.53 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะกลัวคนต่างชาติไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันตนเองและยังไม่ค่อยมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดโรคระบาดรอบ 2 ในไทยได้
-ร้อยละ 29.10 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในไทยได้ เนื่องจากควบคุมได้ยากและมาตรการของรัฐบาลยังไม่มีความเข้มงวดที่ดีพอ
-ร้อยละ 1.04 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ