รัฐประหารในเมียนมา! “ออง ซาน ซูจี” ถูกจับ ทหารเมียนมาเข้าควบคุม “สถานที่ราชการ” ในย่างกุ้ง

Exclusive ข่าวต่างประเทศ

(1 ก.พ.64) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติของเมียนมา ( เอ็มอาร์ทีวี ) ประกาศเมื่อช่วงเช้าของวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น “ระงับออกอากาศชั่วคราว เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค” และ “ความขัดข้อง” ของสัญญาณอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโทรศัพท์ ขยายจากกรุงเนปิดอว์ไปถึงเมืองย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าที่ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวภาคสนาม ว่าทหารในเครื่องแบบเริ่มเคลื่อนกำลัง “เข้าควบคุม” สถานที่ราชการหลายแห่งในเมืองย่างกุ้ง รวมถึงศาลว่าการเมือง ซึ่งถือเป็น “สัญญาณชัดเจนที่สุด” ว่าการรัฐประหารกำลังเกิดขึ้น กระนั้นประชาชนส่วนใหญ่ยังคงดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติ

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังมีรายงานจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ( เอ็นแอลดี ) ว่ากองทัพเมียนมา “ควบคุมตัว” นางออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนและหัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี ประธานาธิบดีวิน มยินต์ และสมาชิกระดับสูงหลายคนในพรรคเอ็นแอลดี ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลท้องถิ่นในหลายรัฐ ขณะที่กองทัพเมียนมายังคงไม่มีปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการ แต่พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยืนยันกองทัพ “ปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551” แต่อาจยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว “ภายใต้เงื่อนไข”

อนึ่ง กองทัพเมียนมา “ยกเลิก” รัฐธรรมนูญของประเทศมาแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อปี 2505 และ 2541 ผ่านการยึดอำนาจและสถาปนารัฐบาลทหาร จนกระทั่งเข้าสู่ “เส้นทางการปฏิรูป” ด้วยการจัดการเลือกตั้งทั่วไป “ตามระบอบประชาธิปไตย” ครั้งแรก เมื่อปี 2558 ซึ่งพรรคเอ็นแอลดีจองนางซูจี ชนะอย่างถล่มทลาย เหนือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา ( ยูเอสดีพี ) ที่กองทัพสนับสนุน และชนะการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2553

ทั้งนี้ เมียนมาเพิ่งจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนด เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ปีที่แล้ว ซึ่งพรรคเอ็นแอลดียังคงเป็นฝ่ายชนะ อย่างไรก็ตาม กองทัพประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อครหาเกี่ยวกับการทุจริต ที่รวมถึงการสวมสิทธิ์เลือกตั้ง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งยืนยัน “ไม่มีความผิดปกติ”.

“ดร.ปิติ” ชี้ การขาดสมดุลจาก “จีน-ตะวันตก-อินเดีย” มูลเหตุ การก่อรัฐประหารในเมียนม่า

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ว่าด้วยสถานการณ์ใน #เมียนมา เท่าที่ผมพอจะเข้าใจคือ เดิม NLD และกองทัพ ต่างก็ต้องหวังพึ่งซึ่งกันและกัน แต่ในระยะหลังกองทัพเองก็ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพมากนัก

ในอดีตกองทัพสนิทสนมกับจีน ว่าด้วยผลประโยชน์หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร แต่ในระยะหลัง เมื่อเมียนมาเปิดประเทศ ต่างชาติกลุ่มใหม่เข้ามามากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เรื่อง ชนกลุ่มน้อยโกก้างในรัฐฉานติดชายแดนจีนทำให้หลายฝ่ายมองจีนเป็นภัยความมั่นคง

อีกด้านของพรมแดน ทางตะวันตก ปัญหาเรื่องเบงกาลี-โรฮิงญา ที่ชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงก็ทำให้ หลายๆ ฝ่ายในประเทศกังวล

กองทัพคบจีนก็น่ากังวล รัฐบาลคบตะวันตกก็น่ากังวล ดังนั้นกองทัพกับรัฐบาลที่เคยต้องพึ่งพากันเหมือนเครื่องหมายหยิน-หยาง ที่ต่างกัน ตรงกันข้ามกัน แต่ต้องอยู่ด้วยกัน ถ่วงดุลกัน จึงเสียสมดุล

ประกอบกับ ในกลุ่มกองทัพเอง ระหว่างกลุ่มอาวุโส กับกลุ่มรุ่นใหม่ ก็ดูจะไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อก่อนอาจจะอยู่ด้วยกันได้ แต่ภายหลังเองหลังจากที่กองทัพบางหน่วยได้รับการสนับสนุนจาก อินเดีย (ซึ่งเป็นพันธมิตรสหรัฐ ในยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก และเป็นคู่กรณีกับจีน) โดยเฉพาะเรื่อง เรือดำน้ำ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเองก็ได้รับการสนับสนุนเรื่องวัคซีนโควิดจากอินเดีย

นั่นทำให้ดุลอำนาจ และการพึ่งพาระหว่างจีน ตะวันตก และผู้เล่นใหม่คือ อินเดียเสียสมดุล และสมดุลเดิมระหว่าง NLD และกองทัพ (ซึ่งมี USDP เป็นตัวแทน) ก็เสียสมดุล เพราะกองทัพ มีความแตกตัวออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มนายทหารอาวุโส (สนิทจีน) กลุ่มทหารรุ่นใหม่ที่ยอมรับ NLD มากขึ้น กลุ่มทหารที่ต้องการคบคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่จีน

และจากประวัติศาสตร์เมื่อเสถียรภาพในกองทัพไม่มี การออกมาแสดงกำลังมักจะเกิดขึ้น เช่น หลัง 8888 ทหารฝ่ายเนวิน ถูกโค่นโดยฝ่ายตานฉ่วย

หรือในช่วงทศวรรษ 2000 ที่ตานฉ่วยก็โค่นตัวแทนของตนเองอย่างโซ่วิ่น-หม่องเอ แล้วแต่งตั้งเต็งเส่ง”.

แหล่งข่าว
https://www.dailynews.co.th/foreign/822557
https://www.thaipost.net/main/detail/91600