ร่วงหนัก! FORTUNE ลดอันดับ “ปตท.” ลง 10 อันดับ จากการจัดอันดับ 500 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ข่าวเศรษฐกิจ

(27 สิงหาคม 2563) “ปตท.” ยักษ์ใหญ่พลังงานของไทย ร่วง 10 อันดับลงมาอยู่อันดับ 140 ในการจัดอันดับ 500 บริษัทใหญ่ที่สุดในโลกประจำปีนี้ของ FORTUNE Global 500 หลังรายได้วูบ 2.5 หมื่นล้านในปี 2562 ส่วน “วอลมาร์ท” ของสหรัฐ ยังครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นิตยสาร FORTUNE (ฟอร์จูน) เผยผลการจัดอันดับ 500 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (FORTUNE Global 500) ประจำปี 2563 ซึ่งหลัก ๆ ประกอบด้วย บริษัทจีน 133 แห่ง บริษัทสหรัฐ 121 แห่ง และบริษัทญี่ปุ่น 53 แห่ง

รายชื่อ FORTUNE Global 500 สำหรับปีงบการเงิน 2562 ซึ่งเป็นการจัดอันดับ 500 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลกจากรายได้ โดย Walmart (วอลมาร์ท) ยักษ์ค้าปลีกของสหรัฐ ยังรักษาอันดับ 1 เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน และเป็นครั้งที่ 15 นับตั้งแต่ปี 2538

ขณะเดียวกัน ปีนี้เป็นครั้งแรกที่จีน (รวมฮ่องกง) มีบริษัทติดอันดับมากที่สุด ซึ่งเพิ่มขึ้น 5 บริษัทจากปีที่แล้วเป็น 124 บริษัท และเมื่อรวมไต้หวัน ทำให้มีบริษัทจากเกรทเตอร์ไชน่าติดอันดับรวมทั้งสิ้น 133 บริษัท ด้านสหรัฐคงที่ด้วยจำนวน 121 บริษัท ส่วนญี่ปุ่นมีบริษัทติดอันดับเพิ่มขึ้น 1 แห่งรวมเป็น 53 บริษัท

ทั้งนี้ บริษัทในการจัดอันดับปี 2563 มาจาก 225 เมืองและ 32 ประเทศทั่วโลก และบรรดาบริษัทในทำเนียบ FORTUNE Global 500 ปีนี้ มีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) หญิงรวม 14 คน

นอกจากนี้ บริษัทในทำเนียบ FORTUNE Global 500 ทำรายได้รวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลก โดยทำรายได้ 33.3 ล้านล้านดอลลาร์ (เพิ่มขึ้น 2%) ทำกำไร 2.06 ล้านล้านดอลลาร์ (ลดลง 4%) และจ้างงาน 69.9 ล้านคนทั่วโลก

ขณะที่ Saudi Aramco (ซาอุดีอารามโค) ยักษ์ใหญ่พลังงานของซาอุดีอาระเบีย รั้งอันดับ 6 โดยมีกำไรสุทธิ 8.8 หมื่นล้านดอลลาร์ และเป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุดในทำเนียบ FORTUNE Global 500 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า มีบริษัทสัญชาติไทยเพียงรายเดียวที่ติดในทำเนียบ 500 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของ FORTUNE คือ บริษัท ปตท. จำกัด ซึ่งร่วงจากอันดับ 130 ในปีที่แล้วมาอยู่ที่ 140 ในปีนี้

ข้อมูล FORTUNE Global 500 ระบุว่า ปตท. มีรายได้ในปีงบการเงิน 2562 อยู่ที่ 71,502 ล้านดอลลาร์ ลดลง 805.2 ล้านดอลลาร์ (ราว 25,138 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 1.1% จาก 72,307.2 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า

คลิฟตัน ลีฟ บรรณาธิการบริหาร FORTUNE ระบุในบทบรรณาธิการของนิตยสารฉบับเดือน ส.ค.-ก.ย. ว่า “เมื่อปี 2533 ซึ่งเป็นปีที่เราเริ่มการสำรวจ ไม่มีบริษัทในประเทศจีนเลยแม้แต่แห่งเดียวที่ติดอันดับ Global 500 แต่ปัจจุบัน จีนมีบริษัทยักษ์ใหญ่มากกว่าทุกประเทศบนโลกนี้

มันชัดเจนจนไม่ต้องอธิบายว่า การค้าระหว่างประเทศคือสิ่งที่ทำให้อเมริกาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 และเป็นมานานก่อนจีน บริษัทอเมริกันส่งออกสินค้าและบริการเป็นมูลค่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 4.87 แสนล้านดอลลาร์เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งมากกว่าที่เพิ่มขึ้น 5 เท่าเมื่อพิจารณาในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ (nominal dollars) และแม้แต่ปรับตามเงินเฟ้อแล้ว อัตราการเติบโตก็ยังสูงถึง 152%

สำหรับผู้ที่เชื่อว่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น เตรียมตกตะลึงได้เลย เพราะเมื่อปรับตามเงินเฟ้อแล้ว การนำเข้าขยายตัว 160% ซึ่งมากกว่าการส่งออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

เจฟฟ์ โคลวิน บรรณาธิการอาวุโส อธิบายถึงการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับจีนว่า “การเปลี่ยนแปลงใน Global 500 นั้นมีนัยสำคัญ เพราะการแข่งขันนี้ได้ก่อให้เกิดอำนาจทางเศรษฐกิจ บรรดานักวิเคราะห์อาจกล่าวคลุมเครือว่าเศรษฐกิจของประเทศไหนใหญ่ที่สุด สหรัฐยังคงเหนือกว่าเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบจากอัตราแลกเปลี่ยน

จีดีพีสหรัฐในปี 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 21.4 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับของจีนที่ 14.3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่หากพิจารณาจากความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity) ซึ่งปรับตามระดับราคาที่ต่างกันของประเทศต่าง ๆ พบว่า จีนนำหน้าสหรัฐอยู่เล็กน้อยด้วยมูลค่า 21.4 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับ 20.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2561 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) มีข้อมูลอยู่ และตอนนี้ช่องว่างดังกล่าวอาจกว้างขึ้นอีก และอาจกำลังขยายกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นได้”

การจัดอันดับนี้พิจารณาจากรายได้รวมประจำปีงบการเงินของแต่ละบริษัท ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่หรือก่อนวันที่ 31 มี.ค. 2563 ทุกบริษัทที่อยู่ในรายชื่อต้องเปิดเผยรายงานและข้อมูลการเงินบางส่วนหรือทั้งหมดต่อหน่วยงานรัฐบาล โดยเป็นตัวเลขตามการรายงาน และเป็นการเปรียบเทียบกับตัวเลขของปีก่อนหน้าตามที่มีการรายงานเป็นครั้งแรกในปีนั้น