หยุดเผาเงินทิ้ง! น้ำตาลมิตรผล รับซื้อใบอ้อยและฟางข้าวในราคาตันละ 1,000 บาท

ข่าวด่วนเกาะกระแส

การเผาอ้อยและการเผาตอซังของเกษตรกรเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศ ทำให้หลายพื้นที่ในต่างจังหวัดมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หลายหน่วยงานพยายามรณรงค์ให้เกษตรกรงดการเผาอ้อยก่อนตัดส่งขายโรงงาน

ล่าสุดบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้ออกประกาศให้พี่น้องเกษตรกรหยุดเผา โดยทางโรงงานพร้อมจะรับซื้อใบอ้อยและฟางข้าวในราคาตันละ 1,000 บาท/ตัน เปิดรับซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม – 30 เมษายน 2563 ในภาคอีสาน ส่งขายได้ที่โรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง จ.เลย, โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์, โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว จ.ชัยภูมิ และโรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง จ.ขอนแก่น


ด้านผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการประจำกลุ่มงานอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรผลฯ เปิดเผยว่าสาเหตุที่เกษตรกรไทยต้องเผาอ้อยก่อนส่งเข้าโรงงานนั้นเพราะมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน และต้องการลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน จึงส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดด้วยการรับซื้อใบอ้อย เพื่อเป็นแรงจูงใจไม่ให้เผาอ้อย ที่สำคัญเกษตรกรเองจะได้ประโยชน์สูงสุดในระยะยาว ทั้งในด้านของรายได้ และการอนุรักษ์ดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ในการทำไร่อย่างยั่งยืน


ขณะที่ชาวไร่อ้อยรายใหญ่ ก็ส่งเสริมให้ปลูกอ้อยตามหลักเกษตรสมัยใหม่ในรูปแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เน้นการใช้เทคโนโลยี การบริหารจัดการ และการเตรียมแปลงอ้อยเพื่อรองรับการใช้รถตัดอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรแบบต่างๆ ตั้งแต่ปลูก บำรุงต้นอ้อย จนถึงเก็บเกี่ยว ช่วยลดการใช้แรงงาน ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพ ปัจจุบัน มิตรผลมีรถตัดอ้อยให้บริการชาวไร่กว่า 400 คัน โดยรถตัด 1 คัน ทดแทนการใช้แรงงานคนได้ 250-300 คน


อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกษตรกรนำอ้อยที่ผ่านการเผาใบมาขายให้กับโรงงานนั้น ทางบริษัทฯ ก็ใช้มาตรการหักค่าอ้อยไฟไหม้ 30 บาทต่อตัน แล้วนำไปเพิ่มเป็นค่าซื้ออ้อยสด ทั้งยังได้บริหารคิวส่งอ้อยสดในโรงงานให้ชาวไร่สามารถส่งอ้อยสดได้เร็วเป็นพิเศษอีกด้วย

สำหรับใบอ้อยและฟางข้าวที่รับซื้อจากเกษตรกรนั้นจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มมิตรผล เสริมกับเชื้อเพลิงหลักที่ใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน คือ ชานอ้อย โดยใบอ้อย จะผ่านกระบวนการอัดเป็นก้อนส่งโรงไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ซึ่งจะมีกระบวนการย่อยใบอ้อยอีกครั้ง ก่อนลำเลียงเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าชีวมวลต่อไป ส่วนฟางข้าวและแกลบสามารถนำเข้ากระบวนการผลิตไฟฟ้าได้ทันทีโดยไม่ต้องย่อยแต่อย่างใด.