“อย.” ย้ำปรุงอาหาร “เมนูกัญชา”ไม่ผิด กม. แต่ต้องซื้อจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาต

Exclusive ข่าวเศรษฐกิจ

หลังจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2563 โดยปลดล็อกส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ประกอบด้วย เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก และใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย ให้พ้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดตามหลักความปลอดภัย โดยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 หลังจากการประกาศปรากฎว่าได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการธุรกิจอย่างมาก โดยสนใจนำส่วนต่างๆ ที่ปลดล็อกแล้วไปใช้ประโยชน์ ต่อยอดธุรกิจและสร้างเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

(20 ก.พ.64) ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทราบ ก่อนนำส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ที่ได้รับการปลดล็อกแล้วไปใช้ในการปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ว่า

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ร้านค้า/ร้านอาหาร ที่นำส่วนประกอบของพืชกัญชาไปประกอบอาหาร เครื่องดื่มจำหน่าย จะต้องซื้อมาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตจาก อย. เท่านั้น อาทิ วิสาหกิจชุมชนที่ปลูกร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งข้อมูลผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมาย สามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือที่ https://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/Pages/Main.aspx เพื่อเป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบว่า วัตดุดิบที่นำมาปรุงอาหารนั้น ได้รับการยืนยันมาจากแหล่งปลูกที่ถูกกฎหมาย

ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า เมื่อได้รับใบหรือส่วนของพืชกัญชาจากแหล่งที่ปลูกถูกต้องตามกฎหมายมาแล้ว สามารถนำมาปรุงใส่อาหารจำหน่ายที่ร้านได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก อย.อีก

“เสมือนหนึ่งว่า ใบกัญชา เป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งในการประกอบอาหาร เพียงแต่ว่าจะต้องมีหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจนเมื่อมีการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรจะต้องระมัดระวัง คือ ใบกัญชาเองมีสารอื่นๆ เช่น สารเทอร์พีน (Terpene) ที่มีผลต่อความไวในการตอบสนองของมนุษย์ต่างกัน ฉะนั้น เมื่อนำมาปรุงอาหารขาย จะต้องมีความระมัดระวังความเข้มข้นของกัญชา ควรใส่ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป หรืออาจหลีกเลี่ยงสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น โรคประจำตัว เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคหัวใจ” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ทั้งนี้ ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า โรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็มีความพยายามในการเผยแพร่เมนูอาหาร หรือ เครื่องดื่มจากพืชกัญชา-กัญชง ให้สำหรับผู้ที่สนใจ เช่น น้ำชาใบกัญชา ก็จะไม่ใช่การนำใบมาปั่นแล้วดื่มได้ทันที แต่จะมีส่วนประกอบอื่นด้วย อาทิ น้ำใบกัญชาผสมกับน้ำผึ้งและมะนาว เพื่อไม่ให้มีความเข้มข้นเกินไป ป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ในผู้ที่ไวต่อสารสกัดจากกัญชา

ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า สำหรับผู้ที่จะนำส่วนของพืชกัญชา ไปทำเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายที่ต้องผ่านการขอเลขจดแจ้งจาก อย. นั้น ในส่วนนี้จะต้องขออนุญาตซึ่ง อย. กำลังทยอยทำประกาศปลดล็อกการนำส่วนของพืชกัญชาไปใส่ในอาหารและผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น ขณะนี้ที่มีการปลดล็อกออกมาแล้วคือ การกำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ.2564 ปลดตำรับยากัญชาแผนไทย 5 ตำรับที่มีส่วนประกอบของใบและกิ่งก้านกัญชาจากบัญชีตำรับยาเสพติดให้โทษ ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ ยาแก้นอนไม่หลับ ยาแก้ไข้ผอมเหลือง ยาแก้ลมแก้เส้น ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง และยาแก้โรคจิต โดยเปิดให้ภาคเอกชนสามารถยื่นขอผลิตยาดังกล่าวได้ที่กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย. ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

“ส่วนต่อไปที่คาดว่าจะออกมาได้เร็วที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากกัญชา-กัญชง สมุนไพรที่ใช้ภายนอก เช่น ลูกประคบ ยาดม ยาหมอง ในสัปดาห์หน้าก็จะมีการปลดล็อกผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น น้ำมันและเมล็ดกัญชง ต่อไปก็จะปลดล็อกส่วนของใบ กิ่ง ก้าน เพื่อสามารถนำใส่ในเบเกอร์รีได้ และจะปลดล็อกสารซีบีดี (CBD) ในเครื่องดื่มต่อไป ซึ่งจะทยอยเป็นเฟสตามความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์” ภญ.สุภัทรา กล่าว

แหล่งข่าว https://mgronline.com/politics/detail/9640000016810