เตือนภัย! “เห็ดพิษ” หน้าตาเหมือนเห็ดทั่วไป แต่เผลอกินถึงขั้นเสียชีวิต

ข่าวด่วนเกาะกระแส
  1. วันที่ 14 ก.ค. 63 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เฉพาะช่วงเดือน ม.ค. ถึงมิ.ย. 63 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ดพิษจากป่าธรรมชาติจำนวนมากถึง 275 ราย
  2. โดยจังหวัดที่พบผู้ป่ายมากที่สุด คือ อุบลราชธานี ซึ่งทางจังหวัดได้ส่งเห็ดพิษให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจโดยเป็นเห็ดที่มาจากจังหวัด บุรีรัมย์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุดรธานี ระยอง และตรัง
  3. ชนิดของเห็ดที่ส่งเข้ามาตรวจ ได้แก่ เห็ดหมวกจีน เห็ดคันร่มพิษ เห็ดก้อนฝุ่น และเห็ดระงาก
  4. หลายคนเห็นเห็ดพิษเหล่านี้แล้วคิดว่านำมารับประทานได้ เพราะมีลักษณะคล้ายเห็ดกินได้
  5. หากเจอเห็ดแล้วไม่แน่ใจว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แนะนำเบื้องต้นว่า ให้ลองใช้แอปพลิเคชั่น “คัดแยกเห็ดไทย” ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำฐานข้อมูลและภาพถ่ายของเห็ดไว้เพื่อใช้ตรวจสอบเห็ดพิษและเห็ดที่รับประทานได้
  6. สามารถดาวน์โหลดแอปฯ นี้ได้จาก Play Store ค้นหาคำว่า “คัดแยกเห็ดไทย” เพื่อตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นได้
  7. มาดูว่าหลังจากรับประทานเห็ดพิษเข้าไปจะมีอาการเป็นอย่างไร

 

ชนิดเห็ดพิษ ระยะเวลาที่เกิดอาการ ลักษณะอาการ อาการที่พบต่อเนื่อง
เห็ดระโงกหินและเห็ดระโงกดำพิษ 6-24 ชั่วโมง ท้องร่วง เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ตับและไตวายและอาจเสียชีวิต
เห็ดหมวกจีน ภายใน 30 นาที
ถึง 2 ชั่วโมง
เหงื่อออกมาก น้ำตาไหล น้ำลายไหล ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงชีพจรเต้นช้า อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในครึ่งชั่วโมง
เห็ดหัวกรวดครีบเขียว 15 นาทีถึง 4 ชั่วโมง ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องเสีย

 

เห็ดถ่านเลือด 2 ชั่วโมง ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หลังจาก 6 ชั่วโมง จะมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อ ตับและไตวายและอาจเสียชีวิต

 

 

  1. สำหรับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากรับประทานเห็ดพิษเข้าไป มีดังนี้

– ดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือ: เกลือ 3 ช้อนชาต่อน้ำอุ่น 1 แก้ว

– ล้วงคอให้อาเจียน เพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ

– กินผงถ่าน (activated charcoal) โดยบดละเอียด 2 ถึง 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกับน้ำให้ข้นเหลว เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหาร

– รีบไปพบแพทย์ทันทีพร้อมกับนำเห็ดที่เหลือจากกินไปด้วย เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัย รักษาอาการและส่งตรวจสอบชนิดของเห็ดพิษกับห้องปฏิบัติการต่อไป

  1. นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ควรรับประทานเห็ดที่ไม่รู้จักและไม่รับประทานเห็ดกับสุรา ถ้ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหรืออาการทางระบบประสาทให้หยุดรับประทานทันทีแล้วรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว