เตือนหญิงไทย “รับจ้างอุ้มบุญ” เสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์

ข่าวด่วนเกาะกระแส

1.นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส.ได้พิจารณาอนุญาตให้ตั้งครรภ์แทนไปแล้วจำนวน 344 ราย

2.โดยกฎหมาย “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558” ที่กำหนดว่า
– การขออนุญาตตั้งครรภ์แทนกระทำได้ในคู่สามี-ภริยาคนไทยที่ชอบด้วยกฎหมาย
– คนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
– หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องอายุระหว่าง 20-40 ปี และเคยมีบุตรมาแล้ว

3.ความสำคัญของกฎหมายนี้ คือ ห้ามไม่ให้ดำเนินการอุ้มบุญเพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยเด็ดขาด จึงมีผลต่อผู้ที่ต้องการมีบุตรแต่ไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวหรือผู้ที่ต้องการรับจ้างอุ้มบุญทางการค้าแอบลักลอบไปรับบริการอุ้มบุญที่ต่างประเทศ

4.สำหรับหญิงไทยที่เดินทางไปรับจ้างอุ้มบุญในประเทศที่ไม่มีกฎหมายควบคุมดังกล่าวนั้นจะเกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ร่างกาย หรือสิทธิในการเลี้ยงดูเด็กที่เกิดเพราะยังไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของหญิงอุ้มบุญหรือกำหนดความเป็นบิดาและมารดาของเด็ก

5.หากหญิงไทยที่รับจ้างอุ้มบุญแทนเกิดการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์แทนก็ไม่สามารถเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากคู่สามีภริยาได้และหากเด็กที่เกิดมามีความพิการก็อาจจะเกิดการทอดทิ้งเด็กได้ ซึ่งไม่เหมือนกับประเทศไทยที่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ควบคุมกำกับเฉพาะ

6.กำหนดให้สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายมีการทำข้อตกลงกับหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนเรื่องผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพหรือเมื่อได้รับความเจ็บป่วยจากการรับตั้งครรภ์แทนแก่หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน

7.ให้กำหนดความเป็นบิดาและมารดาของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ ดังกล่าวไว้ให้ชัดเจน ห้ามไม่ให้สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนโดยเด็ดขาด จึงมั่นใจได้ว่าหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนและเด็กจะได้รับการดูแลครบถ้วนรอบด้านตั้งแต่ช่วงที่กำลังการตั้งครรภ์ไปจนถึงภายหลังการคลอดเด็ก

8.ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวว่า สำหรับผลกระทบต่อหญิงที่ขายไข่หรือรับจ้างอุ้มบุญนั้น นอกจากเรื่องสุขภาพแล้วในด้านสังคมก็มีความรุนแรงไม่แพ้กัน เช่น
– หญิงที่ทำการขายไข่จะถูกฉีดยาเร่งไข่ในปริมาณมาก ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการคั่งของน้ำในช่องท้อง หัวใจล้มเหลวหรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อาจเกิดการตกเลือด การอักเสบติดเชื้อและสูญเสียความสามารถในการมีบุตรของตนเองในอนาคตได้

9.หญิงที่รับจ้างอุ้มบุญนั้นมีความเสี่ยงทั้งทางร่างกายและจิตใจเพราะหวังผลสำเร็จในการมีบุตรมากจึงต้องมีการใส่ตัวอ่อนปริมาณมากโดยที่ไม่ได้คิดถึงความปลอดภัยของหญิงที่มารับจ้างอุ้มบุญเลย จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ เช่น การตกเลือด โรคพิษแห่งครรภ์ ภาวะมดลูกแตกและเสียชีวิตได้

10.หญิงที่รับจ้างอุ้มบุญถือเป็นมารดาของเด็กที่จะเกิดมาที่จะต้องรับผิดชอบเด็กตามกฎหมายด้วย อาจเกิดผลกระทบกับครอบครัวและการใช้ชีวิตของหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญ

11.การกระทำที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์ทำให้เกิดปัญหาต่อเด็กและสังคมตามมา จึงอยากกำชับให้ผู้ที่คิดที่จะดำเนินการอุ้มบุญเพื่อประโยชน์ทางการค้าคิดเสียใหม่ ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างเล็กน้อยเพื่อแลกกับสุขภาพและความปลอดภัยของตนรวมไปถึงเด็กที่จะเกิดมาในอนาคตด้วย

12.การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนสามารถทำได้ในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของภาครัฐและเอกชนเท่านั้น

13.โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลได้ที่เว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (https://mrd-hss.moph.go.th/) ซึ่งมีจำนวน 100 แห่งทั่วประเทศ

พิมลพรรณ แก่นทอง
ธนาคารกรุงไทย
เลขที่บัญชี 768-0-10791-2