เปิดจุดเสี่ยง!นั่งตรงไหนเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) บนเครื่องบิน

ข่าวด่วนเกาะกระแส

สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทย ที่นับวันจะสร้างความหวาดวิตกให้กับผู้คนในการใช้ชีวิต และโดยเฉพาะการเดินทางด้วยเครื่องบิน

มีความรู้เรื่องการแพร่เชื้อในเครื่องบิน โดยผู้รู้ “เรื่องเล่าจากหมอกีฬา” – blockdit.com ระบุ

ด้วย “เป็นหมอกีฬาต้องเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารไปกับนักกีฬาบ่อยๆ ผมจึงไปเรียนเวชศาสตร์การบินเพิ่มเติม ตอนที่เรียนก็มีเป้าหมายว่าเวลามีนักกีฬาบาดเจ็บต้องส่งกลับทางเครื่องบินจะได้คุยกับเขารู้เรื่องและจะได้เตรียมคนไข้ให้ถูกต้อง เรียนอยู่สามเดือนที่สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศจึงพอมีความรู้เรื่องนี้อยู่บ้างเลยเอามาแชร์กันให้ได้ทราบสำหรับผู้สนใจ

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความกังวลในการเดินทางด้วยเครื่องบินอย่างมาก แม้องค์การอนามัยโลกจะระบุว่าการแพร่เชื้อภายในเครื่องบินอยู่ในระดับต่ำโดยอ้างอิงจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลการระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2003 ก็ตามทุกคนก็ยังกังวลกันอยู่

ก่อนอื่นเราจะมาดูกันถึงการทำงานของระบบปรับอากาศและระบายอากาศในห้องผู้โดยสารของเครื่องบิน อากาศจะไหลผ่านตัวคอมเพรสเซอร์บริเวณปีก จากนั้นไหลผ่าน Cooling Pack และเข้าสู่ส่วนผสมอากาศ Mixing Chamber ผสมกับอากาศหมุนเวียนจากภายในห้องโดยสารซึ่งผ่านการกรองด้วย High Efficiency Particulate Air Filter (HEPA) เรียบร้อยแล้ว ผสมกันปริมาณ 50:50 ดำเนินการเช่นนี้ทุก 2-3 นาที

ส่วนการกระจายของลมดังกล่าวจะเดินไปตามท่อลมตามยาวตลอดของห้องผู้โดยสารช่องเป่าลมจะออกแบบทำให้การหมุนเวียนอากาศ เป็นแบบวงกลม Circular Airflow Pattern จากด้านบนลงด้านล่างและจะถูกดูดกลับผ่านตัวกรอง HEPA Filter บริเวณพื้นด้านใน ของเครื่องบิน และถูกปล่อยทิ้ง 50% ส่วนที่เหลืออีก 50% จะนำมาผสมกับ อากาศจากภายนอกเครื่องบิน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการเริ่มต้นป้อนอากาศเข้าไปในห้องโดยสารใหม่อีกครั้ง

ซึ่งตัวกรอง HEPA Filter นี้สามารถกรองอนุภาคเล็กๆ ได้ถึงระดับ 0.3 ไมครอน สามารถกรอง ไวรัส แบคทีเรีย และฝุ่น PM 2.5 ได้ ทำให้อากาศในห้องโดยสารสะอาดยิ่งขึ้น

มาถึงโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อในห้องโดยสาร เมื่อผู้โดยสารที่มีเชื้อ ไอ จาม โดยไม่มีการป้องกัน ผู้โดยสารที่มีโอกาสติดเชื้อ 80-100% คือ คนที่นั่งแถวหน้าและแถวด้านหลัง รวมถึงที่นั่งข้างๆ ถัดไปอีก 2 แถว ของผู้โดยสารที่มีเชื้อ ส่วนผู้โดยสารที่นั่งไกลจากจุดที่ผู้ติดเชื้อนั่งอยู่ จะมีโอกาสได้รับเชื้อน้อยลงไปตามระยะห่างที่มากขึ้นนั่นเอง

ดังนั้น ในกรณีที่เป็นข่าว ผู้โดยสารไทยที่มาจากฮอกไกโด เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคต้องตามหาผู้โดยสารกลุ่มนี้เป็นอันดับแรกโดยด่วน เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อให้อยู่ในวงจำกัดที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่ทว่าผู้ที่ได้รับเชื้อบนเครื่องบินส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากสูดอากาศที่มีละอองของเชื้อเข้าไปโดยตรงครับ แต่เกิดจากการสัมผัส เช่น กรณีที่ผู้ติดเชื้อไอหรือจามออกมา อาจติดที่มือของเขาแล้วไปจับตามที่ต่างๆ หรือบางส่วนของละอองไปติดตามถาดวางอาหาร ที่พักแขน และที่นั่ง คนที่นั่งใกล้ที่สุดจึงมีโอกาสไปสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ได้มากกว่า

ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน

สิ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อคือ

ต้องสวมหน้ากากอนามัย

เลี่ยงการสัมผัสในจุดที่ไม่จำเป็น พกเจลแอลกอฮอร์ล้างมือและล้างมือบ่อยๆ (ไม่เกิน100 มล.ขึ้นเครื่องได้) อย่าล้วงแคะแกะเกา ตา จมูก ปาก

เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยตั้งแต่สนามบิน (ไม่ควรลุกไปห้องน้ำบ่อย) ไม่ลุกจากที่นั่งบ่อยๆ ใครเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงมา กรุณากักตัวเองอย่างน้อย 14วันนะครับไม่ว่าจะมีไข้หรือไม่ก็ตามยังแพร่เชื้อได้

ช่วงนี้เราทุกคนคงต้องงดการเดินทางไปก่อนครับ หวังว่าเราทุกคนจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะการณ์ครั้งนี้ให้ได้นะครับ”

ภาพจาก “เรื่องเล่าจากหมอกีฬา”