เวิลด์แบงก์ เผยไทย มีคนจนพุ่ง 6.7 ล้านคน จี้รัฐแก้เหลื่อมล้ำ-สร้างงานครัวเรือน

ข่าวด่วนเกาะกระแส

วันนี้ (พฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม 2563) นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์)ได้เผยแพร่รายงานวิเคราะห์ความยากจนและแนวโน้มความเหลื่อมล้ำของไทย พบว่าระหว่างปี 58-61 ความยากจนของไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.2% เป็น 9.8% แม้จะลดลงจาก 30 ปีก่อนที่เคยมีสัดส่วนความยากจนมากกว่า 65% ในปี 31 ก็ตาม

ซึ่งจำนวนความยากจนเพิ่มจาก 4.85 ล้านคนในปี 58 เป็นกว่า 6.7 ล้านคนในปี 61 และกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ เกิดจากรายได้ครัวเรือนลดลง การบริโภคชะลอและปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มยากจนที่สุดอยู่แล้ว

นอกจากนี้ในรายงานยังได้เรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการและการลงทุนเพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านในระยะสั้น โดยต้องระบุประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้ตรงจุดกว่านี้ รวมทั้งต้องดำเนินอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างงานที่ดีกว่าให้กับครัวเรือนในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ในระยะยาวควรใส่ใจในเรื่องการศึกษาอย่างเท่าเทียม เพราะคนรุ่นต่อไปจะมีจำนวนน้อยลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและอัตราการเกิดลดลง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ครัวเรือนหลุดพ้นจากกับดักความยากจนจากคนรุ่นก่อน และช่วยส่งเสริมกลุ่มประชากรสูงวัยและกระตุ้นโอกาสการเติบโตของไทย

ทั้งนี้จากข้อมูลยังพบความเหลื่อมล้ำนอกจากความยากจน โดยมีเด็กในกรุงเทพที่มีอายุ 6-14 ปี มากกว่าครึ่งเข้าถึงโอกาสครบทุกด้าน เมื่อเทียบกับเด็กในภาคอีสานที่มีเพียง 10% เท่านั้น ในขณะที่เด็กทั่วประเทศมีโอกาสเข้าถึงพื้นฐานทั่วไป เช่น โอกาสการเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษานั้นเกิดขึ้นแทบจะทั่วทุกพื้นที่ แต่โอกาสในเรื่องอื่น ๆ ยังขาดแคลนอยู่ เช่น โอกาสเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

“แนวโน้มความยากจนในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง แต่ครัวเรือนยังมีความเปราะบางต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ ซึ่งการที่ไทยจะก้าวเข้าสู่สถานะประเทศที่มีรายได้สูงอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้นั้น ภาคครัวเรือนของไทยจะต้องได้รับการปกป้องจากรายได้ของครัวเรือนที่ปรับลดลงรุนแรง เช่น ความเจ็บป่วย การตกงาน และภัยธรรมชาติที่ดีกว่านี้ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ไทยต้องสนับสนุนให้มีการสร้างงานที่มีผลิตภาพและงานที่มีค่าจ้างที่สูงกว่านี้”