เอาชนะโควิด-19 ควบคุมก่อนผ่อนปรน คาดผู้ป่วยใหม่กลับมาเพิ่ม แต่เพื่อสมดุลเศรษฐกิจ

ข่าวด่วนเกาะกระแส

“นพ.ประสิทธิ์” เผยสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือ หากรัฐบาลผ่อนปรน มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า เชื่อหลังปลดล็อก มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น กระทั่งถึงจุดหนึ่ง ต้องกลับสู่การควบคุมอีกครั้ง

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์สถานการณ์ “การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” ในประเทศไทย ประชาชนต้องร่วมมือกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติ COVID-19 อีกครั้ง หลังผ่อนปรนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ – การเอาชนะ COVID-19 ด้วยยุทธการ ควบคุมและผ่อนผัน The Hammer and the Dance

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ เผยว่า ไทยถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่จัดการกับ ไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างอยู่ ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น กลับขยับไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่จัดการไม่ค่อยอยู่ ทั้งนี้ ในความคิดตน เกาหลีใต้ ถือว่าเป็นประเทศที่จัดการกับ ไวรัสโควิด-19 ได้ดีมาก แม้ก่อนหน้านี้จะพบซูเปอร์ สเปรดเดอร์ อัตราการเกิดใหม่เป็นตัวเลขหลักเดียว คนเสียชีวิตก็น้อยมาก เช่นเดียวกับประเทศไทย

ขณะที่ในประเทศไทย ข้อมูลจนถึงวันที่ 26 เม.ย.63 มีผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. ก่อนที่จะดีดกลับมาพบผู้ป่วยมากขึ้น เป็นแรงงานต่างด้าวในศูนย์กักกัน แต่เราก็สามารถคุมได้ เนื่องจากแรงงานเหล่านี้ ไม่ได้ออกมาด้านนอก

สำหรับยุทธศาสตร์ที่เราวางไว้จะเห็นว่า จำนวนผู้ป่วยในขณะนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ชัดเจน เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. เป็นต้นมา เรามีจำนวนผู้ป่วยที่หายกลับบ้าน มากกว่าจำนวนผู้ป่วยใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดที่ เราน่าจะเข้าสู่มาตรการผ่อนคลายต่างๆ ซึ่งก่อนหน้าผู้ป่วยใหม่ที่เราพบ คือ ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยก่อนหน้า ทำงานในพื้นที่เสี่ยง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ จึงนำมาประกอบ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ผ่อนคลาย

ในต่างประเทศจะเรียกว่า “The Hammer” and “The Dance” คือการทุบด้วยค้อน แล้วเปิดให้ฟ้อนรำ หมายความว่า ค้อน คือการควบคุม ฟ้อนรำ คือการผ่อนผัน หรือผ่อนคลาย เป็นยุทธศาสตร์ที่หลายประเทศนำมาใช้ แต่การดำเนินการต่างๆ อาจจะต่างกันบ้าง

ยุทธศาสตร์นี้ เริ่มจากเมื่อมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ทำอะไร ผู้ป่วยใหม่ก็อาจจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราใช้มาตรการอะไรสักอย่าง เพื่อควบคุม ก็จะทำให้ผู้ป่วยใหม่มีจำนวนลดลง รวมถึงผู้ป่วยที่จะเปลี่ยนไปเป็นผู้ป่วยหนัก ก็จะลดลงไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยโควิด-19 ใน 100 ราย พบว่า 80 ราย มีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการ 20 ราย มีอาการที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา และ 5 ใน 20 ราย มีอาการหนัก ถึงขั้นต้องเข้า ICU ต้องใช้เครื่องหายใจ

การทุบด้วยค้อน ก็คือ การออกมาตรการจำเป็นต่างๆ และได้รับความร่วมมือจากคนในประเทศ ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลง จนถึงระดับหนึ่ง ก็จะเข้าสู่โหมดที่ 2 ที่เรียกว่า “The Dance” หรือ การฟ้อนรำ ซึ่งก็คือ การผ่อนคลาย

ทั้งนี้ยุทธศาสตร์การทุบด้วยค้อน กำหนดไว้ว่า ไม่ควรทำนานเป็นเดือน หลายเดือน ควรทำเป็นสัปดาห์ เพราะสิ่งที่แลกมาคือ เศรษฐกิจ คนจำนวนหนึ่ง อาจต้องขาดงาน ไม่มีรายได้ ขณะเดียวกัน คนที่อยู่บ้าน ไม่ได้ออกไปสังสรรค์ก็จะมีความตึงเครียด เมื่อถึงจุดหนึ่ง อาจจะรับไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องหาความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม

การเปิดโอกาสให้ฟ้อนรำ ดูหลักเกณฑ์อะไรบ้าง

  • การแพร่กระจาย ในช่วงแรกที่พบการติดเชื้อในประเทศไทย ผู้ป่วย 1 ราย จะแพร่เชื้อไปได้ 2.2 ราย แต่ ณ วันนี้ เชื่อว่าผู้ป่วย 1 ราย จะแพร่เชื้อไปได้ 0.6 ราย
  • การทดสอบ การติดตาม การกักกัน การคัดแยกบุคคล เราทำได้ดี เรามีศูนย์กักกัน แยกตัวบุคคลทั้งในระดับประเทศ และจังหวัด
  • การให้ความรู้ประชาชน เกี่ยวกับไวรัสโควิด เกี่ยวกับการล้างมือ การใส่หน้ากาก ซึ่งทุกคนให้ความร่วมมืออย่างดี แม้กระทั่งอยู่บ้าน ออกจากบ้านเฉพาะจำเป็น
  • การปิดสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก มาอยู่รวมกัน ซึ่งรัฐบาลก็มีการประกาศเคอร์ฟิว เข้ามาจัดการ

ซึ่งหลังจากที่ 4 ข้อนี้ บรรลุแล้ว ก็จะเข้าสู่การผ่อนคลายมาตรการบางอย่างลง แต่หากผ่อนคลายแล้ว พบว่า ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ก็อาจจะต้องกลับมาลงค้อน หรือควบคุม เป็นครั้งที่ 2 ก่อนจะเกิดวิกฤติอีก

ที่ผ่านมา มีการประเมิน จากมาตรการต่างๆ ดังนี้

  • การปิดร้านสะดวกซื้อ ผลกระทบน้อยมาก ที่ผ่านมา ก็ยังซื้อขายได้ และยิ่งถ้าจัดระเบียบได้ โอกาสการแพร่กระจายของไวรัส ก็จะน้อยลง
  • อยู่บ้าน ออกจากบ้านเมื่อจำเป็น มาตรการนี้มีผลกระทบสูง จึงต้องออกมาตรการนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลเชิงลบ
  • การปิดโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย มาตรการนี้มีผลกระทบสูง เพราะเชื้อโควิด-19 หากติดในเด็ก อาการ และอัตราการเสียชีวิตในเด็กจะน้อยมาก เด็กที่อยู่ในโรงเรียน มีโอกาสเกิดการแพร่ระบาดระหว่างกัน แต่ไม่แสดงอาการ และเมื่อกลับไปบ้าน เด็กอาจจะนำเชื้อไปติดคนที่บ้าน การผ่อนคลาย อาจจะต้องชะลอ และไม่ควรรีบร้อน รวมถึงมีมาตรการควบคุมการแพร่กระจาย
  • บาร์ ภัตตาคาร มีผลกระทบสูง ทำให้ต้องมีการสั่งปิดสถานบันเทิง เพราะการดื่ม ทานอาหาร มักไม่ได้ใส่หน้ากาก และเมื่อเกิดการพูดคุยอย่างสนุกสนาน อาจทำให้เกิดละอองจากปากของผู้พูด ก็เป็นความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อ
  • การกีฬา มีผลกระทบกลางๆ โดย กีฬากลางแจ้ง หากอยู่ในสภาพอากาศแบบนี้ เชื้ออยู่ไม่ได้นาน แต่เพราะคนที่ออกกำลังกาย ไม่ได้ใส่หน้ากาก แล้วต้องพบปะคนอื่น ก็จะเกิดความเสี่ยง ส่วนกีฬาในร่ม อย่างฟิตเนส มีความเสี่ยงมาก เพราะอยู่ในที่แคบ ไม่มีอากาศถ่ายเท
  • การคอนเฟอเรนซ์ ประชุมอยู่ในห้อง ถือว่ามีความเสี่ยงในที่คับแคบ จึงต้องเลี่ยง ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามา
  • การเดินทาง อัตราเสี่ยงสูงคือ การเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ซึ่งบ่อยครั้งที่คนเดินทางเข้าไทย เพราะเป็นประเทศที่เสี่ยงน้อยกว่าประเทศที่อยู่

การลดการแพร่กระจายของเชื้อ

  • การทำความสะอาดแบบปูพรมทั้งหมด อาจไม่จำเป็น เพราะค่าใช้จ่ายมาก
  • การทำความสะอาดพื้นที่เสี่ยง มีการระบาด พบผู้ป่วย มีความจำเป็นมาก
  • การติดตามกับผู้ติดเชื้อ ยังเป็นมาตรการที่จำเป็น ในระดับสูง ในการหาบุคคลเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง ก่อนจะมีการแพร่กระจาย
  • การล้างมือ เรื่องสุขภาวะ ยังมีความจำเป็น
  • การตรวจให้มาก เพื่อให้แน่ใจว่าคนที่มาตรวจเป็นคนกลุ่มใด มีเชื้อ หรือไม่มีเชื้อ มีเชื้อแล้วไม่มีอาการ หรือยังตรวจไม่เจอเชื้อ ถ้าเราตรวจมากขึ้น ก็จะแยกกลุ่มได้มากขึ้น เพื่อเข้าไปจัดการได้ง่ายขึ้น
  • การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล

ซึ่งจากการประเมินมาตรการทั้งหมดนั้น วันนี้กำลังกำหนดแนวทางต่างๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการผ่อนคลาย หรือ The Dance แต่เมื่อไหร่ที่เข้าสู่มาตรการผ่อนคลาย จะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น เพราะคนที่มีเชื้ออยู่ แล้วไม่รู้ตัว เมื่อออกมานอกบ้าน ก็อาจจะติดเชื้อมากขึ้น แต่จำนวนจะไม่ชันเหมือนช่วงแรกๆ และเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจะต้องตัดสินใจ กลับมาใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง  ก่อนที่จะมีการผ่อนปรน และจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งทุกคนจะต้องช่วยกัน

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ผ่านจุดควบคุม เข้าสู่โหมดผ่อนคลาย

  • จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น
  • อัตราเร็วของการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ และจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ มีผลต่อการตัดสินใจเปลี่ยนจาก “ผ่อนผัน” กลับสู่ “ควบคุม”
  • การผ่อนผันที่เร็วและมากเกินไป เป็นสาเหตุของการกลับเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในหลายประเทศ
  • การปลี่ยนจาก “ควบคุม” สู่ “ผ่อนผัน” จึงควรค่อยเป็นค่อยไป (ตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น, สิงคโปร์) ให้เริ่มทำฉพาะกิจกรรมที่สำคัญบ้าง แต่อาจต้องกลับมา “ควบคุม” อีกหากสถานการณ์การควบคุมเชื้อแย่ลง
  • การปรับตัว การเข้าใจ และการมีวินัยของคนทั้งประเทศ มีส่วนสำคัญต่ออัตราเร็วของการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ และจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่
  • การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การป้องกันตนเองและสังคม (โดยการใส่หน้ากาก การล้างมือ) ยังเป็นเรื่องที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง
  • การผ่อนผัน ผ่อนคลาย คือ การผ่อนผันออกจากบ้าน เพื่อทำกิจกรรมนอกบ้านต่างๆ ได้มากขึ้น แต่ยังต้องเข้มงวดกับมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ (ทั้งของผู้ที่ออกไปทำกิจกรรมและผู้ประกอบการ) ซึ่งหลักการยังคงอยู่ คือเมื่อทำกิจกรรมเหล่านั้นเสร็จ ขอให้อยู่บ้าน เมื่อกลับเข้าบ้าน ล้างมือเหมือนที่เคยปฏิบัติ
  • ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ ผู้มีความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ฯลฯ) ยังขอให้งดการออกนอกบ้านอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะผิดพลาดที่จุดใดจุดหนึ่ง อาจกระทบกับทั้งประเทศ เพื่อความสมดุลของสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม

ที่มาจาก เฟซบุ๊ก IPTV Mahidol University