มอ.แจง กรณี “น้องทิม”สอบติดแพทย์แต่ไร้ทุน ค่าเทอมต่อปี 5.6 หมื่นบาท ไม่ใช่ 400,000 บาท ตามที่เป็นข่าว  

ข่าวด่วนเกาะกระแส

จากกรณีสื่อฯต่างๆได้นำเสนอข่าวของ นายดวงเกียรติ ทรัพย์ส่ง หรือน้องทิม นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสามัคคีศึกษา ต.นาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งเรียนดีแต่ยากจน สามารถสอบติดคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แต่ติดปัญหาเรื่องค่าเทอม จนอาจไม่ได้เดินตามความฝัน และวอนขอให้ผู้ใจบุญยื่นมือช่วยเหลือนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 1 ก.พ. คณะแพทย์ศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องค่าเล่าเรียนของ นายดวงเกียรติ ทรัพย์ส่ง โดยระบุว่า ตามที่ นายดวงเกียรติ ทรัพย์ส่ง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสามัคคีศึกษา ต.นาวง  อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาด้วยระบบ TCAS รอบที่ 1 ในโครงการผลิตแพทย์แนวปฏิรูปประจำปีการศึกษา 2563  คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นั้น


หลังจากที่มีข่าวทางสื่อโซเชียลและสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ว่าภายหลังสอบติดคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แล้วนักเรียนและครอบครัวมีความกังวล และความเครียด เรื่องค่าเล่าเรียน ที่มีค่าใช้จ่ายต่อปีสูงถึง 400,000 บาท นั้น คณะแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ระหว่างการเป็นนักศึกษาแพทย์ ของคณะแพทย์ ตลอดระยะเวลา 6 ปี แบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้

1.ค่าธรรมเนียมการศึกษา ปีละ 5.6 หมื่นบาท แบ่งจ่ายเป็น 2 งวดๆละ 28,000 บาท ตลอด 6 ปี เท่ากับ 336,000 บาท  คณะแพทย์มีทุนสนับสนุนให้แก่นักศึกษา

2.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่าหอพักนักศึกษาชายชั้นปีที่ 1 ปีละ  6,600 บาท / ปี 2- 6 ปีละ 4,000  บาท ตลอด 6 ปี เท่ากับ 26,600 บาท

ค่าใช้จ่ายรายเดือนแล้วแต่บุคคล ประมาณเดือนละ 5,000 บาท 6 ปี เท่ากับ 360,000 บาท

สรุปค่าใช้จ่ายตลอดทั้ง 6 ปี ของนักศึกษาเป็นเงินจำนวน 722,600 บาท


ทั้งนี้ ทางคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีเงินทุนการศึกษาเป็นค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในข้อ 1 อย่างพอเพียงให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และไม่มีนโยบาย ที่จะให้นักศึกษาที่ไม่มีทุนเรียนต้องลาออกเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่สำคัญในฐานะที่คณะแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในภาคใต้ และเป็นองค์กรผลิตบัณฑิตมากว่า 40 ปี ขอยืนยันว่าทางคณะฯพร้อมจะกระจายโอกาสทางการศึกษาแพทย์ ให้กับนักเรียนในพื้นที่ภาคใต้ทุกคน ด้วยความเท่าเทียมกัน เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่เราจะสร้างบุคลากรที่จะช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป ดังพระราชดำรัสของพระบิดาที่พวกเรายึดมั่นว่า “ขอให้ถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง

ขอบคุณเพจคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์