“โฉมหน้า 5 อนาคต” เอ็นไอเอเผย หลังวิกฤตโควิด-19 ที่อาจเปลี่ยนแปลง

โควิด-19 เปลี่ยนโลก

          เชื่อว่า หลายคนคงเคยผ่านวิกฤตระดับโลกมาหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิน เช่น วิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อปี 1997 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 วิกฤตการณ์ทางสาธารณสุข เช่น การแพร่ระบาดของไวรัสซาร์ส เมอร์ส ไข้หวัดหมู และ อีโบล่า รวมไปถึงวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติอย่าง สึนามิ ซึ้งล้วนเกิดในขอบเขตที่จำกัดทั้งในเชิงพื้นที่ และในเชิงผู้รับผลกระทบ แต่ปัจจุบัน ที่มีการระบาดของโรคโควิค-19 วิกฤตการณ์นี้ ถือว่าได้สร้างผลกระทบวงกว้าง และมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก แม้ในเชิงตัวเลขของยอดผู้เสียชีวิตอาจดูไม่รุนแรงเหมือนครั้งการเกิดไข้หวัดหมู หรือสึนามิ แต่การแพร่ระบาดในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้ง่าย และรวดเร็ว จึงทำให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่วโลก ทั้งนี้ สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม หรือ IFI ภายใต้การเนินงานของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของภาวะวิกฤตดังกล่าว จะเป็นตัวแปรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยยังมีสิ่งที่น่าจับตามอง ได้แก่

รูปแบบภูมิรัฐศาสตร์

โดยที่มีประเทศจีนเป็นศูนย์กลาง จะเด่นชัดมากขึ้น เพราะประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบ ภาคการผลิตของจีนที่หยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าโลก และทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งผู้ผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมไปถึงผู้บริโภค แต่จีนยังสามารถเข้าสู่ระยะฟื้นฟูได้เร็วมาก ด้วยมาตรการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสที่เข้มงวด และมีประสิทธิภาพ ประกอบกับประเทศจีนนั้น มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เพียงพอ ที่สามารถสร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิน และการบริโภคภายในประเทศได้ง่าย ไม่ต้องพึ่งเศรษฐกิจจากภายนอก แต่ในขณะที่จีนกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว กลับกันในอีกหลายประเทศ ต้องกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาด

สังคมเริ่มคุ้นชินกับโลกดิจิทัล

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ที่ผ่านมา ทั้งการเข้าถึง และการเรียนรู้ในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แพร่หลายกับคนเฉพาะบางกลุ่ม บางวัยเท่านั้น แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19ขึ้นมาแล้วนั้น ทำให้เหล่าผู้คนต้องพากันดำรงชีพแบบเว้นระยะจากสังคม จึงต้องเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลไปโดยอัตโนมัติ เพราะมันทำให้เราได้สามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอก แม้ต้องมีการปรับตัวในการใช้งานก็ตาม เช่น การประชุมออนไลน์ การใช้เงินดิจิทัล การดูหนังออนไลน์ และสิ่งเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้บริโภคมีความเคยชิน และเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่ทำให้เราได้ก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลเร็วกว่าที่คาดไว้

ทิศทางอุตสาหกรรม พึ่งพาตัวเอง

ในหลายประเทศสัดส่วนการพึ่งพิงอุตสาหกรรมบริการเทียบกับ อุตสาหกรรมการผลิต มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบริการ ถือเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ที่สร้างรายได้ และการจ้างงาน แต่เมื่อวิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้น ทำให้หลายประเทศปิดประเทศ ผู้คนเริ่มใช้ชีวิตเว้นระยะจากสังคม เกิดการดำรงชีพแบบไม่พึ่งพาระบบ จึงทำให้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบริการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเดินทาง ท่องเที่ยว ค้าปลีก และค้าส่ง บันเทิง ร้านอาหาร และร้านค้า ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มบริการแพลทฟอร์มดิจิทัล และบริการที่มีมูลค่าสูง รวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง ที่เชื่อมโยงไปกับทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ

ธุรกิจสตาร์ทอัพ เป็นเรื่องยาก

เนื่องจากที่ผ่านมาธุรกิจสตาร์ทอัพล้วนเกิดจากความต้องการ และการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค ซึ่งได้เติบโตไปอย่างก้าวกระโดด ด้วยการลงทุนของนักลงทุน แต่เมื่อวิกฤตโควิด-19มาเยือน ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐาน มากกว่าความต้องการใหม่ ๆ ดังนั้นนักลงทุนจึงชะลอการลงทุน เพราะต้องสำรองเงินไว้ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกัน อาจเป็นโอกาสสำหรับสตาร์ทอัพกลุ่มดิจิทัล และกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเร่งด่วนได้อย่างทันท่วงที

การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องใช้ภาครัฐ และธุรกิจขนาดใหญ่

ด้วยการดำรงชีวิตแบบเว้นระยะห่างทางสังคม รวมไปถึงการปิดประเทศ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน ธุรกิจบริการ ผู้ประกอบการขนาดย่อม และขนาดเล็ก โดยจะส่งผลกระทบรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากกินเวลานาน แต่ผู้ที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้นั้น จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีเงินทุนสำรองสูง มีธุรกิจรองรับอีกหลากหลาย หรืออยู่ในภาคผลิตที่พร้อมจะกลับมาได้รวดเร็ว ทั้งนี้ เมื่อวิกฤตโควิด-19 ผ่านไปแล้ว ทั้งภาครัฐ และธุรกิจขนาดใหญ่ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่ภาครัฐต้องดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด และความเลื่อมล้ำในการแข่งขัน ต้องทำงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรม หรือ NIA ได้ออกมากล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นบทเรียนสำคัญของโลก ที่ต้องมีแนวทางในการรับมือในภาวะวิกฤต โดยแบ่งการรับมือออกเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 การรับมือก่อนเกิดเหตุ ขั้นที่ 2 การรับมือระหว่างเกิดเหตุ และขั้นที่ 3 การฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ โดยสิ่งที่ทำได้ในขั้นที่ 1 คือ การใช้เทคนิคทางระบาดวิทยา และข้อมูลต่าง ๆ มาเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งประเทศไทยได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นที่ 2 ที่เริ่มมีการกำหนดมาตรการมาตอบสนอง และต่อสู้กับการแพร่ระบาด และทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบปกติกลับมาให้เร็วที่สุด