พระสมเด็จจิตรดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน

พระเบญจภาคี

ในอาณาจักรพระเครื่องรางของขลังนั้น ถ้าเอ่ยถึงพระเครื่องที่ยิ่งใหญ่กันแล้ว บรรดานักนิยมของขลังทั้งหลายก็ต้องยกให้กับ ยอดพระสมเด็จของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังษี หรือของดีของวัดระฆังก่อนอื่น

แต่เหนือขึ้นไปในระดับ “จักรพรรดิ” นั้น จะไม่มีพระเครื่องรางของขลังอื่นใดที่ยิ่งใหญ่หรือสูงไปกว่าพระเครื่ององค์เดียวที่ได้ชื่อว่า รวมเอา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผนึกเข้าไว้ในรูปแทนพระพุทธองค์ ด้วยผงอันศักดิ์สิทธิ์จากทั่วราชอาณาจักรไทยนั้น เห็นจะไม่มีอีกแล้ว….นั้นคือ พระสมเด็จ “หลวงพ่อจิตรลดา” ปฏิมากรรมของขลังพิมพ์เดียวที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ ณ พระราชวังสวนจิตลดา เมื่อ พ.ศ. 2509

ที่มาของชื่อ พิมพ์ และขนาด

อันที่จริงแล้ว พระราชดำริเดิมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงสร้างพระพุทธรูปเพื่อพระราชทานให้แก่จังหวัดทั่วไปมากกว่า แต่ผงศักดิ์สิทธิ์ที่รวบรวมมาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักรนั้น ถ้านำมาสร้างเป็นเนื้อพระพุทธรูปซึ่งมีขนาดถึง 9 นิ้วแล้วก็จะไม่พอ พระองค์จึงเปลี่ยนพระทัย โดยจะสร้างเป็นพระพิมพ์แต่อย่างเดียวประมาณ 200 องค์ ส่วนพระพุทธรูปได้เปลี่ยนเป็นเนื้อโลหะสร้างเท่าจำนวนจังหวัด คือประมาณ 72 องค์ เมื่อสร้างพระพิมพ์เสร็จแล้วจะทรงบรรจุพระพิมพ์นั้นไว้ในองค์พระพุทธรูปโดยให้มองเห็นพระพิมพ์ได้จากภายนอกด้วย

พระสมเด็จฯ “หลวงพ่อจิตรลดา” ความหมายของ “พระนาม” จากยอดพระเครื่องแห่งกรุงรัตนโกสินทร์องค์นี้ บางท่านได้เห็นพระแล้ว อาจจะงงอยู่ เพราะ “พิมพ์” ที่ปรากฏนั้น เป็นลักษณะทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว อันเป็นพระเครื่องใน สกุล “พระนางพญา” ที่เรียก “พระสมเด็จ” ทั้งๆ ที่พระนั้นมิใช่ “พระพิมพ์สมเด็จ” ที่มีลักษณะ 4 เหลี่ยมผืนผ้านั้น ก็เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ให้กำเนิด จังมีคำว่า “พระสมเด็จฯ” โดย “สมเด็จ” คำนี้หมายถึงในหลวง ร.9 นั้นเอง ส่วนคำต่อมาว่า “หลวงพ่อจิตรลดา” นั้น เป็นชื่อเรียกองค์พระเครื่องโดยตรงแล้วต่อด้วยคำท้ายว่า “จิตรลดา” ซึ่งก็หมายถึงมาจากพระราชวังนั้นเอง

พระสมเด็จฯ “หลวงพ่อจิตรลดา” เป็นพระเครื่องเนื้อผงสีน้ำตาลแก่ มีขนาด 2 คูณ 3 ซ.ม. ทำเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วทรงชะลูดพุทธลักษณะขององค์พระประทับปางสมาธิแบบขัดราบ (พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย) บนดอกบัวบาน บน 5 กลีบ ล่างอีก 4 กลีบ รวมเป็น 9 กลีบ ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 9 ของพระองค์นั้นเอง

ในลักษณะของ “พิมพ์” ดังกล่าวนี้ ข้อที่ควรสังเกตคือพระกรด้านซ้ายจะกางน้อยกว่าด้านขวาจนเป็นเหตุให้พระอังสา (หัวไหล่) ด้านซ้ายนั้น จะยกสูงขึ้น ทั้งพระกรซ้ายจะทอดโค้งมากจนผิดกับพระกรด้านขวาซึ่งพุ่งตรงเกือบจะเป็นมุมฉากทีเดียว นอกจากนั้นที่เหนือกลีบบัวบานนั้นเอง จะปรากฏเม็ดไข่ปลาเรียงรายทอดเป็นแถวหน้ากระดานเม็ดกลมๆ เล็กๆ ซ่อนอยู่ด้วย

การตัดส่วนด้านข้างทั้งสามมุมนั้น จะคมประณีตเป็นระเบียบ ส่วนด้านหลังจะเป็นแบบปาดราบงามเรียบร้อยได้สัดส่วนอย่างไม่เคยมีพระเครื่องอื่นใดปฏิบัติมาก่อนเลย

ผงจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร

จากข้อเขียนของ นายพ่วง สุวรรณรัฐ อดีตท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ “พระเครื่องเรื่องของขลัง” (เล่มเดิม) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า….

วัตถุมงคลของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นนี้ นอกจากเครื่องผสมสร้างเนื้ออันเป็นของวิเศษตามตำราและของส่วนพระองค์ตามพิธีแล้ว เครื่องผสมเหล่านี้ยังได้มาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักรดังต่อไปนี้อีกด้วยคือ

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระมงคลบพิตร พระพุทธโสธร พระแก้วมรกตวัดลำปางหลวง พระธาตุเจดีย์วัดพระธาตุเสด็จ พระนอนจักรสีห์ พระพุทธพิมพ์ พระพุทธไสยาสน์ พระใส วัดโพธิชัย หนองคาย หลวงพ่อเพชร พิจิตร พระพุทธมงคล วัดสังกัสรัตนคีรีอุทัยธานี พระพุทธธรรมจักร ชัยนาท พระผงศรีวิชัย ถ้ำคีรีวิหาร พระพุทธรูปองค์แสนวัด พระธาตุเชิงชุม เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ยังได้จากปูชนียสถานอันษักดิ์สิทธิ์ เช่นจาก องค์ปฐมเจดีย์ พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช พระบรมธาตุไชยา พระธาตุพนม พระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระธาตุหริภูญชัย พระธาตุศรีจอมทอง พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุดอยตุง พระธาตุจอมกิติเชียงแสน พระธาตุจอมเพชร เขาวัง พระแท่นศิลาอาสน์ พระแท่นดงรัง วัดท่ากระดาน พระธาตุเชิงชุม พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ศรีสัชนาลัย พระเจดีย์มหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย พระธาตุเจดีย์เขาช่องกระจก พระสมุทรเจดีย์ พระธาตุเจดีย์บางระจัน พระมหาธาตุเพชรบุรี พระบรมธาตุกำแพงเพชร พระธาตุชัยมงคล พระธาตุบังพรวน หนองคาย พระธาตุดอยกองมู พระเจดีย์ศรีสองรักษ์ ด่านซ้าย เลย พระธาตุช่อแฮ พระธาตุแช่แห้ง พระธาตุจอมแจ้ง พระบรมธาตุชัยนาท พระธาตุพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นต้น

และนอกจากนั้นยังได้จากศาลหลักเมืองต่างๆ และศาลศักดิ์สิทธิ์ของอดีตมหาราชต่างๆ ตลอดจนสิ่งมงคลที่พระเถระผู้ใหญ่บางองค์ได้นำมาจากสังเวชณียสถานชมพูทวีปอีกด้วย

และที่สำคัญที่สุดก็คือ ผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่นำมารวมเป็นเนื้อเพื่อสร้างพระสมเด็จฯ “หลวงพ่อจิตรลดา” นั้น ยังปรากฏว่ามีเส้นพระเจ้า (เส้นผม) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผสมอยู่ด้วย จึงนับว่าเป็นสัญลักษณ์ที่รวมเอา ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์มาอยู่กับองค์พระสมเด็จฯ “หลวงพ่อจิตรลดา” ไว้อย่างครบถ้วนทีเดียว

ของดีที่พระราชทานให้ด้วยพระหัตถ์

เกี่ยวกับพระสมเด็จฯ “หลวงพ่อจิตรลดา” ที่สร้างไว้ครั้งแรก 200 องค์นั้น ภายหลังเมื่อข่าวพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงสร้างพระเครื่องด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ แล้วพระราชทานให้กับข้าราชการบริพารรวมทั้งเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อีกมากท่าน แต่ก็ไม่โปรดให้ข่าวเล่าลือกัน

ต่อเมื่อความศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธคุณของหลวงพ่อจิตรลดาได้ปรากฏออกมา ความนั้นก็เก็บไม่อยู่ พสกนิกรของพระองค์อีกจำนวนมากต่างก็กราบบังคมทูลขออยู่ไม่ขาด จึงทรงพระหมากรุณาสร้าง พระสมเด็จฯ “หลวงพ่อจิตรลดา” ออกมาอีก ประมาณว่า มากเป็นพันองค์ พระองค์ได้พระราชทานให้ดับพสกนิกรผู้ประกอบแต่กรรมดีโดยมิได้เลือกชั้นวรรณะ นับตั้งแต่นักการเมืองชั้นผู้ใหญ่ลงมาจนถึงระดับคนทำสวน และแม้แต่ผู้ไปราชการรบที่เวียตนามก็ยังได้รับพระราชทานไปอีกส่วนหนึ่งด้วย

แต่ประมาณว่าในปลายปี พ.ศ. 2512 นั้นเอง ก็มีข่าวว่าพระองค์ได้หยุดสร้างพระสมเด็จฯ “หลวงพ่อจิตรลดา” เสียแล้ว ทั้งนี้คงเนื่องจากทรงไม่อยากเห็นพสกนิกรผู้ปรารถนาในพระเครื่องของพระองค์อีกจำนวนมาก จะต้องสิ้นทรัพย์มากเป็นหมื่นๆ อย่างขาดสติตกเป็นเหยื่อของคนสิ้นคิด ซึ่งได้แอบทำพระพิมพ์นี้ปลอมกันออกมามากในระยะนั้นนั่นเอง

พระสมเด็จฯ “หลวงพ่อจิตรลดา” เป็นพระเครื่องชั้นสูงในระดับจักรพรรดิพระเครื่องเป็นของวิเศษที่พระองค์จะพระราชทานให้ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง นอกจากผู้รับจะมีชื่ออยู่ในทะเบียนส่วนพระองค์แล้วยังมีประกาศนียบัตรให้อีกด้วย จึงนับว่าชนผู้ใดได้รับพระราชทานของวิเศษนี้ไว้ก็นับว่าชนผู้นั้นโชคดีมีบุญที่สุด…เพราะนั่นคือ “เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดที่ในชีวิตของเขานี้จะพึงได้รับอีกแล้ว!”

โดยอาจารย์ ประชุม กาญจนวัฒน์