พระรอดวัดมหาวัน ลำพูน

พระกรุ

“เมืองหริภุญชัย”หรือ”ลำพูน”ปัจจุบันนี้…จากตำนานได้กล่าวไว้ว่า มีพระฤาษี 5 คน ซึ่งได้ช่วยกันสร้าง”นครหริภุญชัย”ขึ้น เมื่อสำเร็จแล้วก็ได้แต่งทูตไปกราบถวายบังคมทูล “พระนางจามเทวี” เบญจกัลยาณีผู้เลื่องลือ ซึ่งเป็นราชธิดาของกษัตริย์แห่งกรุงละโว้ (ลพบุรี) ไปครองเมืองหริภุญชัยนับแต่ พ.ศ.1203 เป็นต้นมา นอกจากนั้นตำนานยังกล่าวต่อไปอีกว่าเมื่อถึงปี พ.ศ.1223 พระนางยังได้โปรดให้สร้างพระอารามสำคัญขึ้นไว้ทั้ง 4 มุมเมืองอีกด้วย คือ
1. วัดมหาวัน (กรุต้นกำเนิดพระรอดและพระอื่นๆ)
2. วัดพระคง (กรุพระคงและฯลฯ)
3. วัดดอนแก้ว (กรุพระเปิมและฯลฯ)
4. วัดประตูลี้ (กรุพระเลี่ยงและฯลฯ)
โดยวัดที่กล่าวนี้ ปัจจุบันทุกๆ วัดได้ขุดพบพระเครื่องสกุลลำพูนนอกจากที่ระบุไว้อีกมากพิมพ์ที่ต่างกันออกไป

พระนางจามเทวี ประสูติเมื่อ พ.ศ.1166 และสิ้นพระชนย์เมื่อ พ.ศ.1258 รวมพระชนมายุได้ 92 พระชันษา พระบรมอัฐิของพระนางได้บรรจุไว้ที่ “วัดจามเทวี” ณ “สุวรรณจังโกฏ์เจดียื” (กู่กุด) ณ นครหริภุญชัย

สำหรับ “วัดมหาวัน” ตั้งอยู่ทาวทิศตะวันตกของเมือง เป็นพระอารามจาก 1 ใน 4 ของวัดสี่มุมเมืองที่สำคัญยิ่งสำหรับนักพระเครื่อง กำเนิดเมื่อ พ.ศ.1223 เป็นพระอารามแห่งเดียวที่พบ “พระรอด” ซึ่งชนส่วนใหญ่ต่างก็เสาะหาเช่นกันเป็นเงินแสนอยู่ขณะนี้…”พระรอดกรุวัดมหาวัน” นับเป็นปฏิมากรรมของขลังขนาดเล็กที่เลิศอลังการด้วยพิมพ์และอายุครับ ก็เรื่องอายุของพระรอดนี่แหละ นักพระเครื่องกลุ่มหนึ่งต่างก็ยืนยันเอาว่าเป็นพระเครื่องที่เกิดจาก “สกุลช่างทราวดี” โดยประเมินอายุไว้ถึง 1,200 ปี ขึ้นไป แต่อีกฝ่ายกลับค้านในเรื่องศิลปะว่าอายุก็เพียงระดับ “ยุคศรีวิชัย” เท่านั้น (ประมาณ 1,000 ปี) แต่ต่อมาก็ได้พบหลีกฐานด้านโบราณคดีที่ลำพูนอีกมาก “อาจารย์คงเดช ประพัฒน์ทอง” นักโบราณคดีชื่อดังแห่งกรมศิลปากรได้ยืนยันมาว่า…”พระรอดจากมหาวัน” นั้นที่ถูกต้องคือ เป็นพระเครื่องศิลปะแบบลพบุรี และมีอายุอย่างมากก็เพียงพุทธศตวรรษที่ 17 เท่านั้นเอง

พระรอดกรุวัดมหาวันนับเป็นพระเครื่องเนื้อดินเผาผสมผงนุ่มอ่อนตัวมีส่วนคล้ายกับพระทุ่งเศรษฐีที่เมืองกำแพงเพชรมากทั้งหมดมี 5 สี คือ ขาว, เหลือง, แดง, เขียว และเทาอมดำ (สีที่แก่หรืออ่อนไปอีกก็มี) ขนาดใหญ่ประมาณ 1.4 * 2.4 หรือที่เล็กสุดก็เพียง 1 * 2 ซ.ม.เท่านั้น พระสกุลนี้มีด้วยกันทั้งหมด 5 พิมพ์คือ
1.พิมพ์ใหญ่ (ก้นพับ)
2.พิมพ์กลาง (ก้นแมลงสาป)
3.พิมพ์เล็ก (ก้นตัด)
4.พิมพ์ตื้น (ผนังโพธิ์ตื้น)
5.พิมพ์ต้อ (เตี้ยต้อ)

“พระรอด” เป็นพระประทับนั่งปางมารวิชัยแบบขัดเพชร องค์พระนูนเด่นโดยมีผนังโพธิ์รองรับองค์พระอยู่เบื้องหลังไว้ทุกพิมพ์ ทั้งนี้ก็จะปรากฏลายมือไว้ทุกองค์ที่ด้านหลังองค์พระด้วย (หากดูรายละเอียดจากพระรอดแต่ละพิมพ์ได้จากหนังสือ “พระเครื่องชุดสกุลลำพูน” ของเขียว ธีรศานต์)…”พระรอด” ที่กำเนิดจากกรุ “วัดมหาวัน” นับเป็นพระเครื่องอีกพิมพ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมกันมากที่สุด…ขณะเดียวกัน “พระมือผี” หรือ “พระเก๊” ก็สร้างขึ้นใหม่ออกมาอย่างมากมายจนนับรุ่นไม่ถูก ก็ได้ปรากฏอยู่ทั่วทุกมุมเมืองจนเป็นที่หวาดผวาแก่มือพระเก่าและใหม่มากอยู่ จึงขอฝากผู้ที่สนใจในพระรอดกรุวัดมหาวันนี้ไว้ด้วย ก่อนเช่าพระควรสังวรณ์กันไว้ให้มากๆ หน่อยครับอันตราย!

พระพุทธคุณของ “พระรอดกรุวัดมหาวัน” นี้ มีผู้กล่าวกันว่า “เรื่องแคล้วคลาดรอดพ้นภัย ทั้งปวงละก้อ ท่านเยี่ยมมาก!” แต่ถึงกระนั้นยังมีประสบการณ์แก่ผู้คล้องคอบูชาแล้วว่า พุทธคุณของพระรอดนี้มีครบทุกด้าน ในระดับ “ครอบจักวาล” กันทีเดียว

โดยอาจารย์ ประชุม กาญจนวัฒน์